เรวัต อารีรอบ รุกแผนพัฒนาท่องเที่ยวภูเก็ตครบวงจร ตั้งเป้าดันรายได้ครึ่งปีหลังเป็น 5 แสนล้านบาท

ภูเก็ต จังหวัดที่ที่ติดอันดับ World Destination นานนับทศวรรษ แต่เบื้องหลังที่ถือเป็น Pain Point ของคนภูเก็ต คือ จังหวัดนี้มีงบน้อยมาก เข้าข่าย “ชื่อใหญ่ ได้งบน้อย” ส่วนธุรกิจระดับ “บิ๊กเนม” ที่ผุดในจังหวัดนั้นเล่าก็กลับกลายเป็นภาพลวงตา เพราะกลับส่งรายได้เข้าส่วนกลางตามที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ ทำให้ภูเก็ตต้องเสียรายได้ส่วนนี้ไป ทั้งที่ธุรกิจเหล่านี้ล้วนใช้ทรัพยากรภายในจังหวัด

ทว่า ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ทำให้ “เรวัต อารีรอบ” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตวางยุทธศาสตร์และเดินหน้าแผนการพัฒนาภูเก็ต เพื่อให้เป็นจังหวัดที่อยู่แผนที่โลกในฐานะ World Destination อย่างเต็มภาคภูมิ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนภูเก็ต ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะไข่มุกแห่งนี้ แม้จะถูกส่วนกลางหลงลืมมาตลอดก็ตาม

ภูเก็ต เป็นถึง World Destination แต่จริงๆ แล้วมีอะไรที่ถือเป็น Pain Point หรือไม่

จริงๆ ไม่น่าเชื่อว่า ภูเก็ตที่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับประเทศและระดับโลก เราจะได้รับงบประมาณจากส่วนกลางน้อยมาก โดยเมื่อหักสุทธิแล้วเราเหลืองบประมาณสำหรับการบริหารเพียง 85 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณอ้างอิงจากจำนวนประชากรในจังหวัดที่ภูเก็ตมีประชากรในระบบ 4 แสนคน แต่ภูเก็ตมีประชากรแฝงกว่า1 ล้าน และในช่วงไฮซีซั่นอาจขยับขึ้นเป็น 1.3 – 2 ล้านคนด้วยซ้ำ ด้วยงบที่ได้รับจากส่วนกลางที่มีฐานสำหรับ 4 แสนคน โดยมีงบจากส่วนกลางที่หักจากส่วนที่ให้รพ.สต.และอื่นๆ แล้วเหลืองบบริหารเพียง 85 ล้านบาท ส่วนธุรกิจบิ๊กเนมทั้งวงการค้าปลีก อสังหา ฯลฯ นั้นนำส่งรายได้ไปที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทำให้ภูเก็ตไม่มีรายได้จากส่วนนี้ทั้งที่ใช้ทรัพยากรในจังหวัดของเรา ฉะนั้น รายได้ที่ท้องถิ่นได้จึงมาจากธุรกิจที่จดทะเบียนภายในจังหวัดเท่านั้น และส่วนแบ่ง 1%จากธุรกิจโรงแรม ซึ่งทำให้ อบจ.มีงบบริหารประมาณ 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ ก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ ภูเก็ตมีถนนเข้าเมืองแค่เส้นทางเดียวมาตลอด 50 ปี ในขณะที่มูลค่าการท่องเที่ยวมีแค่ระดับสิบล้านจนปัจจุบันขึ้นหลักแสนล้านบาทก็มีถนนเข้าเมืองเพียงเส้นทางเดียวเหมือนเดิม ก่อนหน้านี้ก็มีหน่วยงานจากส่วนกลางเข้ามาทำการสำรวจให้คนภูเก็ตมีกำลังใจบ้าง แต่ก็เงียบเหมือนเดิม

ขณะที่ปัญหาอื่นๆ เหมือนเมืองอื่นๆ นั่นคือ ปัญหาขยะล้น น้ำขาด รถติด ซึ่งปัญหาการจราจรนั้นไม่แตกต่างจากจากกรุงเทพฯ หรืออาจจะติดมากกว่าด้วยซ้ำ

อบจ.รับมือกับ Pain Point ตรงนี้อย่างไร

ขณะนี้ อบจ.ภูเก็ตได้วางแผนพัฒนาภูเก็ตครบวงจรแบบ 360 องศา เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญในแง่ของ ‘Transportation + City’ เพื่อเสริมจุดแข็งของจังหวัด และผลักดันศักยภาพที่หลากหลายของจังหวัดให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ สามารถเพิ่มการใช้จ่ายต่อคน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้ ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การขนส่ง และศูนย์กลางการบินของภูมิภาค พร้อมส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งชายฝั่งทะเลอันดามัน  

“รถโพถ้อง” รถกระบะสองแถว ต่อส่วนโดยสารด้วยไม้ วิ่งให้บริการในจังหวัดภูเก็ตมานานนับสิบปี
แต่เป็น”รถร้อน” ที่คนรุ่นใหม่รู้สึก “ไม่เฟี้ยว” แล้ว

แผนพัฒนา ‘Transportation + City’ ของ อบจ.ภูเก็ต ประกอบด้วย 

ส่วนของ Transportation  ประกอบด้วย

โครงการรถ EV แผนการพลิกโฉมการขนส่ง เพื่อแก้ปัญหารถติดสะสมในตัวเมืองที่มีปัญหาไม่แตกต่างจากกรุงเทพฯ ด้วยโครงการนำรถ EV จำนวน 24 คัน มาใช้แทน “รถโพถ้อง” (รถกระบะสองแถวสีชมพู ต่อส่วนโดยสารด้วยไม้) ของ อบจ.ภูเก็ตที่ให้บริการมานานกว่า 10 ปี โดยให้บริการใน ‘3 + 1 เส้นทาง’  ได้แก่

  • สายที่ 1 สายสีเหลือง เริ่มต้นที่สะพานหิน ไปสิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลภูเก็ต ระยะทาง 11 กม.
  • สายที่ 2 สายสีแดง ท่าเรืออ่าวฉลอง-ห้างซุปเปอร์ซีป ระยะทาง 18 กม.
  • สายที่ 3 สายสีเขียว ท่าเทียบเรือรัษฎา-สวนน้ำอันดามันดา ระยะทาง 10.5 กม.
  • บวกอีกหนึ่งเส้นทาง นั่นคือ สายสนามบิน- หาดราไวย์ รวมระยะทางประมาณ 47 กม

ทั้งนี้ อบจ.ภูเก็ตได้ปรับเส้นทางเดินรถให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ท่าเรือ โรงเรียน ชุมชน ย่านการค้า ย่านเมืองเก่ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ทั้งคนภูเก็ต นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ โดยรถโดยสาร 1 คันรองรับผู้โดยสารได้ 21 คน พร้อมตั้งเป้าทดลองวิ่งต้นธันวาคม 2567  และให้บริการฟรีสำหรับเด็ก นักเรียน และคนชรา เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนด้วย

โครงการ Smart Pier แผนการพัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรือที่อยู่ในการดูแลของ อบจ.ภูเก็ต โดยได้พัฒนาท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต และทาง อบจ. ภูเก็ตเป็นผู้บริหารจัดการเอง โดยจะยกระดับเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลของผู้ประกอบการ เรือโดยสาร ผู้โดยสาร เวลาเข้าออกของรถ/เรือที่เข้ามาที่ท่าเรือ  การคัดกรองผู้โดยสารด้วย AI การจัดระเบียบการจราจรบนสะพาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เพื่อความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ตมากที่สุด

ส่วนของ City นั้น ทาง อบจ.มอบการพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยว ได้แก่

  • โครงการสวนสาธารณะ เพื่อสร้างปอดแห่งใหม่ แหล่งสันทนาการและสถานที่ออกกำลังกายแห่งใหม่ของชาวภูเก็ตบนพื้นที่เรือนจำจังหวัดภูเก็ตเดิม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต บนพื้นที่ 33 ไร่ ด้วยงบประมาณ 169.5 ล้านบาท พร้อมด้วยที่จอดรถยนต์อีก 300 คัน รองรับรถยนต์ของผู้ที่มาออกกำลังกายและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาท่องเที่ยวยังย่านเมืองเก่าภูเก็ต และเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่สีเขียวโดยรอบให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมือง
  • ศูนย์โรคหัวใจ อบจ.ภูเก็ต ได้ร่วมบริจาคเงิน 30 ล้านบาท สมทบทุนของ โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ตที่มี 24 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์โรคหัวใจให้กับโรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต ตามโครงการพัฒนาศักยภาพศูนย์โรคหัวใจ จังหวัดภูเก็ต เพื่อใช้ในการจัดหาครุภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ พัฒนาศักยภาพในการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยมีแนวคิดเบื้องหลังของนายเรวัตที่ต้องการสร้างศูนย์โรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคเฉพาะทางให้จังหวัดภูเก็ตมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถให้บริการกับคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องส่งตัวข้ามจังหวัด ซึ่งจะเป็นประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ และช่วยชีวิตผู้ป่วยได้  
อบจ.ภูเก็ต มอบเงิน 30 ล้านบาท แก่รพ.วชิระภูเก็ต
สนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพศูนย์โรคหัวใจ จังหวัดภูเก็ต

อบจ.ตั้งเป้าอะไรกับช่วงครึ่งหลังของปีนี้หรือไม่

ด้วยจุดแข็งและศักยภาพที่ภูเก็ตมีนับแต่ประวัติศาสตร์อันยาวนานนับศตวรรษ ความเป็นภูเก็ตที่บ่มเพาะและส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมย่านเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town) การชิมอาหารพื้นถิ่น และการสัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูเก็ตนั้นส่งผลให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักภูเก็ตในแง่มุมที่แตกต่างออกไปที่มิได้มีเพียงแค่ Sea, Sand, Sun แต่ยังมี City ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกด้วย และด้วยแผนการพัฒนาจังหวัดของ อบจ. เราตั้งเป้าว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถทำรายได้ได้ 5 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำรายได้ 4.2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในปีนี้ประมาณ 3 แสนคน ทั้งนี้ เป็นการประเมินจากการจองเที่ยวบินเข้าจังหวัด และเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีประมาณ 2 แสนคนและเพิ่มจากปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงโควิดประมาณ 6 เท่าตัว