การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัดอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ที่ทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรและจัดบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตทำได้แบบครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และช่วยลดปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่น้อยลง โดยที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้ถอดความสำเร็จของโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต และ รพ.สต. พร้อมยกให้เป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ตั้งเป้าพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข ครอบคลุมทั้งระบบบริการ ส่งเสริมป้องกันโรค การพัฒนาบุคลากร การใช้เทคโนโลยีในการบริการสาธารณสุข และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตให้มีสุขภาพดีและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตามแนวทาง “การพัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพแบบสากลด้วยวิถีคนภูเก็ต”
นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต หรือ อบจ.ภูเก็ต โรงพยาบาลท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. รวมถึงสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 21 แห่ง ซึ่งได้รับการถ่ายโอนมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มาตั้งแต่ปี 2565 และดำเนินการครบถ้วนในปี 2567 เพื่อแบ่งเบาภาระ ลดความแออัดของโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวรอบเกาะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวก ควบคู่กับการดำเนิน“โครงการอยู่ที่ไหน ก็ใกล้หมอ” และ “โครงการใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ที่สำคัญการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ ยังทำให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ทันที กรณีที่ขาดอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ และการปรับปรุงอาคารสถานที่ ซึ่งจะต้องใช้ความรวดเร็วในการดำเนินการ
ประชาชนผู้ใช้บริการมีความพอใจในภาพรวมของโครงการฯ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อยกระดับด้านการสาธารณสุขมูลฐานและบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิในจังหวัดภูเก็ต จนได้มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ สามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็น Safety City และ Healthy City ที่จะเป็นส่วนขับเคลื่อนตามนโยบายของ อบจ. ภูเก็ต ที่จะพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยและทันสมัยด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่แบบครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข คมนาคม ท่องเที่ยว สาธารณูปโภค ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
นอกจากนี้ ประชาชนและผู้ป่วยที่มารอใช้บริการของโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่พอใจและชื่นชมการบริหารจัดการของโรงพยาบาลที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวนาน ผ่านมาตรการที่ทางโรงพยาบาลวางไว้อย่างเป็นระบบ และคาดว่าถ้ามีการปรับปรุงและพัฒนาโรงพยาบาลใหม่ให้ทันสมัย จะมีประชาชนมาใช้บริการมากขึ้นแน่นอน