อาจารย์และนักวิจัย คณะการแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี โดยผศ.ดร.พท.ป.วัชระ ดำจุติ อ.ดร.สุริยา ชัยวงค์ และน.ส.ชลิตรา วงษ์นุ่ม คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากก้างปลาหมอคางดำ ผลงานใหม่ที่ผสานการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยการสกัดแคลเซียมจากก้างปลาหมอคางดำ ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งยังช่วยลดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ และอยู่ระหว่างการจดอนุสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิต
ผศ.ดร.พท.ป.วัชระ ดำจุติ หนึ่งในผู้วิจัย จากคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่าปัจจุบัน ปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นได้แพร่ระบาดในประเทศไทยและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำอย่างรุนแรง โดยมีการแพร่กระจายกว่า 19 จังหวัดทั่วประเทศ ทางกรมประมงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปแปรรูป ซึ่งตนและทีมวิจัย จึงได้ร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหา จนนำมาสู่การนำปลาหมอคางดำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ขณะที่ ทีมนักวิจัย ได้อธิบายว่า หนึ่งในแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุน คือ การนำปลาหมอคางดำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากปลาชนิดนี้มีแคลเซียมและสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การใช้กระดูกปลาหมอคางดำสกัดแคลเซียมเป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพ และมีความบริสุทธิ์สูง โดยกระบวนการสกัดไม่ทำลายคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ ของปลา และแคลเซียมที่ได้จากปลายังมีความโดดเด่นด้านความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจดีกว่าแคลเซียมที่ได้จากแหล่งอื่นๆ ขณะเดียวกัน การนำก้างปลาหมอคางดำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวยังลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดจำนวนปลาหมอคางดำในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
“ในการดำเนินการพัฒนาวิธีสกัดแคลเซียมคาร์บอเนตจากก้างปลาหมอคางดำ เพื่อใช้เตรียมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีกระบวนการสำคัญโดยสรุป เริ่มต้นที่การแยกก้างปลา การสกัดแยกแคลเซียมคาร์บอเนตจากก้างปลาด้วยกรรมวิธีทางเคมี การแยกตะกอนแคลเซียมและการทำแห้งผงแคลเซียมคาร์บอเนต จนกระทั่งได้แคลเซียมคาร์บอเนตจากก้างปลาหมอคางดำเพื่อใช้เตรียมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลวิจัยที่สำคัญส่วนหนึ่ง พบว่า ก้างปลาหมอคางดำให้ประมาณแคลเซียมสูงถึงประมาณ 14% w/w” ดร.สุริยา ชัยวงค์ อธิบายเสริม
ปัจจุบัน ทีมวิจัยอยู่ระหว่างการดำเนินการจดอนุสิทธิบัตรกรรมวิธีการสกัดแคลเซียมจากก้างปลาหมอคางดำ เพื่อเตรียมการผลิตและจำหน่าย ซึ่งผลงานที่เกิดขึ้นนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ แต่ยังมีส่วนร่วมในการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ผู้สนใจสามารถติดตามความต่อเนื่องและความสำเร็จของโครงการวิจัยดังกล่าวได้ที่ คณะการแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี โทร.02 592 1989.