มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับ และภาคีเครือข่าย ได้แก่ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ (มศว) กลุ่มบริษัท บี.กริม จัดการอภิปรายหัวข้อ “ถอดบทเรียนหลักสูตรและกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย : 14 ปี ในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาอย่างไรให้ก้าวสู่นักวิจัยตัวน้อยแบบพลเมืองโลก (Global citizen)” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวถึงความเป็นมาและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ริเริ่มขึ้นในปี 2552 หลังจากทรงทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการในเยอรมนี โครงการนี้เริ่มต้นด้วยชุดกิจกรรมการทดลองเกี่ยวกับ “น้ำ” เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานกับการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน โดยเน้นการเรียนรู้ตามพัฒนาการและธรรมชาติของเด็ก ทั้งในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ผ่านวิสัยทัศน์ของโครงการที่ว่า “Questioning – Inquiring – Shaping the future” ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาสมรรถนะและการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และต่อมาได้พัฒนาแนวทางการเรียนรู้ต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น กระบวนการสืบเสาะ และหัวข้อกิจกรรมที่หลากหลายที่ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาการคำนวณ และวิศวกรรมศาสตร์
ในงานเดียวกันนี้ ดร.เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว อาจารย์ประจำศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะของเด็กไทย ตามหลักสูตรและกรอบสมรรถนะที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยชี้ให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยสามารถส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยและประถมศึกษาพัฒนาสมรรถนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “เด็กคือนักวิจัยโดยธรรมชาติ” และโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยได้สนับสนุนให้ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้สืบเสาะอย่างมีความสุขและปลอดภัย ตลอดระยะเวลากว่า 14 ปีที่ผ่านมา เด็ก ๆ ได้สร้างสรรค์โครงงานที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งยืนยันว่าเด็กมีศักยภาพในการเป็นนักวิจัยตัวน้อยที่พร้อมจะเรียนรู้และพัฒนา หากได้รับโอกาสและอิสระจากผู้ใหญ่
นอกจากนี้ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ยังได้กล่าวถึงบทบาทของรายการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยที่นำแนวคิดจากโครงการมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย รายการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน แต่ยังส่งเสริมให้เด็ก ๆ กล้าคิด กล้าทำ และกล้าแสดงออก ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
การถอดบทเรียนจากโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการสร้างสรรค์การศึกษาเชิงนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาในประเทศไทย โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาก้าวสู่การเป็นนักวิจัยและพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคตอย่างมั่นใจ. โดย บี.กริม ร่วมสนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย จัดกิจกรรมการอภิปราย หัวข้อ “ถอดบทเรียนหลักสูตรและกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย : 14 ปี ในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาอย่างไรให้ก้าวสู่นักวิจัยตัวน้อยแบบพลเมืองโลก (Global citizen)” และยัง เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” มาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามหลักปรัชญา “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี” ควบคู่กับการส่งเสริมความสัมพันธ์กับชุมชน ปัจจุบันโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้ขยายผลกว่า 39,835 โรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 456 แห่ง