ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ SME ต้องเตรียมพร้อมเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

การรายงานข้อมูลความยั่งยืนไม่เพียงแต่ช่วยให้ SME สามารถปรับตัวรับกติกาการค้าโลกใหม่ๆ ได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายขึ้น

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจ

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจเริ่มทวีความสำคัญและส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ธุรกิจ SME ควรต้องเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากมีแรงกดดันจากหลายด้าน อาทิ กฎระเบียบการค้าโลกที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งสหภาพยุโรปนับเป็นกลุ่มประเทศสำคัญที่มีเป้าหมายและกฎระเบียบกติกาในการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมีการออกกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Corporate Sustainability Reporting Directive : CSRD) มาบังคับใช้ให้บริษัทต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในสหภาพยุโรปและที่ไม่อยู่ในสหภาพยุโรป ตลอดจนธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน จะต้องเปิดเผยข้อมูลและผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (มีผลบังคับใช้แล้วในปี 2024 แต่มีการกำหนดเกณฑ์รายได้บริษัท) ส่งผลให้ผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปและผู้ส่งออกในประเทศอื่น ๆ ที่มีการค้าขายกับสหภาพยุโรปต้องตื่นตัวรับมือกับระเบียบการค้าในเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบัน SME ที่รายได้ยังไม่เข้าเกณฑ์ อาจยังไม่เข้าข่ายที่ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน แต่กรอบกติกาใหม่นี้จะถูกนำมาใช้สำหรับ listed SME ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มากขึ้น 

คำถามต่อมาคือ “ทำไม SME ไทยต้องเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้?”

หากพิจารณาถึงอุตสาหกรรมที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน จะพบว่าอุตสาหกรรมที่ไทยมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เกษตร และอาหาร ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีผู้ประกอบการ SME เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น หากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนแล้ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ SME ที่อยู่ใน Value chain อาทิ การผลิตชิ้นส่วนหรือป้อนวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ก็มีโอกาสเข้าข่ายต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนทางอ้อมด้วย เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วกฎระเบียบนี้จะครอบคลุมถึงธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด  

การรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนไม่เพียงแต่จะช่วยให้ SME สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับกติกาการค้าโลกใหม่ ๆ ได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากการที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงไทยให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่เน้นความยั่งยืน ในระยะข้างหน้าประเด็นด้าน ESG จะถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนมาสู่ Sustainable finance มากขึ้น ทั้งนี้จากกรณีศึกษาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ Sustainable transition ของธุรกิจ SME ใน EU 25 ประเทศ (ปี 2023) ที่จัดทำโดย Eurochambres พบว่า ราว 60% ของ SME มีการลงทุนใน Sustainable transition แต่มีเพียง 35% ที่เป็นแหล่งเงินทุนจากภายนอกกิจการ ได้แก่ สถาบันการเงิน หรือตลาดทุน และในจำนวนนี้มีเพียง 16% ที่จัดว่าเป็น Sustainable finance นอกจากนี้ SME ในกลุ่มที่ต้องเริ่มมีการรายงานด้านความยั่งยืนส่วนใหญ่ตอบว่ายังไม่มีความพร้อมสำหรับการรายงาน CSRD สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว ธุรกิจ SME ยังมีความท้าทายในเรื่องของความพร้อมสำหรับการรายงานข้อมูลด้าน ESG อยู่อีกมาก

สำหรับในไทย ธุรกิจ SME ที่ยังไม่พร้อมอาจเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้และทำความเข้าใจประเด็นด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับบริบทของธุรกิจของตนเองในเบื้องต้นก่อน และเริ่มกำหนดเป้าหมาย ESG ของบริษัทให้สอดคล้องกับบริบทของกิจการของตนเองก่อน จากนั้นจึงเริ่มกำหนดกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยอาจเริ่มจากด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายจะต้องเริ่มจัดเก็บข้อมูลและระบุกิจกรรมของธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยอาจเริ่มเก็บแค่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเองโดยตรงก่อน เช่น การใช้พลังงานในกิจกรรมการผลิต การปล่อยของเสีย/ขยะ การขนส่ง การเดินทางเพื่อธุรกิจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมเพื่อใช้ในการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจและนำไปสู่การพิจารณาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจเองแล้ว บทบาทของภาครัฐก็มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ SME เตรียมความพร้อมสำหรับการรายงานด้านความยั่งยืน อย่างเช่นการกำหนดมาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืนที่ธุรกิจขนาดเล็กสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการได้ ดังเช่นในกรณีของสหภาพยุโรปที่มีการจัดทำมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนสำหรับธุรกิจ SME ตามความสมัครใจ (Voluntary Small and Medium Enterprise European Sustainability Reporting Standard : VSME ESRS) ซึ่งจะเป็นกรอบการรายงานความยั่งยืนแบบง่าย เพื่อช่วย SME ในการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนให้แก่ Counterparts ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทคู่ค้า หรือสถาบันการเงิน

คงถึงเวลาแล้วที่ SME ต้องเริ่มเตรียมพร้อมเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแค่ให้สอดรับกับกติกาการค้าใหม่หรือเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ธุรกิจ SME ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาประสิทธิภาพ ลดต้นทุน รวมถึงเป็นแต้มต่อในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาวได้อีกด้วย

________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอตวันที่ 2-4 กันยายน 2024