Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยรายงาน ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.23 บาทต่อดอลลาร์
นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.96-34.23 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) เดือนกรกฎาคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับราว 7.7 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 8.1 ล้านตำแหน่ง สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในแต่ละการประชุมที่เหลือในปีนี้ และโดยรวมเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า -100bps ในปีนี้ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง หนุนโดยการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงินโดยรวม
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ออกมาแย่กว่าคาด ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็น Nvidia -1.7% ถูกหมายเรียกในกรณีละเมิดกฎหมายผูกขาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.16%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.97% กดดันโดยแรงเทขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย ASML -5.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมรวมถึงกลุ่มพลังงาน อาทิ LVMH -4.2%, Shell -1.1% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน รวมถึงล่าสุดความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงินโดยรวม ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.76% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ มองว่า ตลาดการเงินในช่วงนี้จะอยู่ในช่วงเผชิญความเสี่ยงผันผวนสองด้าน หรือ Two-Way Volatility ขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรามองว่า ควรรอจับตารายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่จะรายงานในช่วง 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของคืนวันพฤหัสฯ นี้ และข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะรายงานในช่วง 19.30 น. ของคืนวันศุกร์ โดยข้อมูลดังกล่าวจะส่งผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในแต่ละการประชุมที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.2-101.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 2,525 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนสิงหาคม รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันนี้ อาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้พอสมควร และอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินหลังทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวได้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB
และในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ในเดือนสิงหาคม จะชะลอลงสู่ระดับ 0.43% จากผลของระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้า (+0.16%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจยังคงอยู่แถวระดับ 0.54% ซึ่งแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เรามองว่า ธปท. จะไม่ได้กังวลต่อการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวมากนัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มทยอยสูงขึ้นกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนหลุดโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า ภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับที่เราประเมินไว้ในช่วงต้นสัปดาห์ว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น การเคลื่อนไหวของเงินบาทก็สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงแถวโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ หลังความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบในช่วงนี้ได้ (ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดใหม่ของปีนี้) และโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบดังกล่าวก็เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า ขณะเดียวกัน ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดในช่วงนี้ ก็อาจเปิดโอกาสให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้เช่นกัน
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรือ อย่างน้อยแกว่งตัว sideways ไปก่อน เพื่อรอรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน รวมถึง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ซึ่งหากข้อมูลส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้บ้าง ในทางกลับกัน หากข้อมูลส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ซึ่งในภาพดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดอาจยิ่งเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยในแต่ละการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวลดลงเพิ่มเติม หนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ทว่า เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าลงไปมากนัก เนื่องจากภาพเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ดูไม่สดใสเช่นกัน ทำให้เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนบ้างจากความกังวลเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอตัวลงหนัก
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.30 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย