ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนจากมูลนิธิทีทีบี ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า แหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนในชุมชนอายุ 12-17 ปี ให้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ และทักษะการใช้ชีวิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อจุดประกายให้เยาวชนเกิดมุมมองใหม่ในชีวิตของตนเอง พร้อมนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปพัฒนาชุมชนและสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ในงาน “LEARNING SPACE FESTIVAL 2024” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้หัวข้อ “Case ภาคธุรกิจกับการลงทุนสร้างพื้นที่เรียนรู้ ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ช่องว่างและโอกาสในการขยายผลการดำเนินงาน” ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น เวิร์กช้อป และ ห้องLearning ที่มีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กและเยาวชน
นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า เป็นศูนย์เรียนรู้ที่รองรับทักษะการใช้ชีวิตและศิลปะ โดยเกิดจากความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงของทีทีบีที่เชื่อว่า หากปลูกฝังเด็กไปในทางที่ดีได้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้สังคมยั่งยืน โดยมีแนวคิด “เด็กธรรมดาคือสิ่งที่สวยงาม” ต้องการสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาส ได้เข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ และจุดประกายให้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง ได้รับการยอมรับ สามารถดูแลตัวเอง และพร้อมส่งต่อสิ่งดี ๆ คืนกลับให้กับสังคมได้ในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นเด็กอายุ 12-17 ปี มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ได้จุดประกายเยาวชนไปแล้วกว่า 12,700 คน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็ก ๆ โดยมีหลายคนค้นพบศักยภาพในตัวเอง นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดการเรียนและการประกอบอาชีพต่าง ๆ อาทิ เชฟ ครู และสถาปนิก อีกทั้งยังมีเด็ก ๆ บางคนกลับมาเป็นเจ้าหน้าที่ และคุณครูอาสาสมัครของศูนย์ฯ เพื่อช่วยผลักดันเด็ก ๆ ไฟ-ฟ้า ที่เข้ามาใหม่ให้ได้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง เพราะเชื่อว่าการพัฒนาเด็กและชุมชนเป็นรากฐานที่สำคัญในการนำพาสังคมไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้น ก่อนการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าแต่ละแห่ง จะมีการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและชุมชนเสมอ เพื่อให้รู้ถึงความสนใจของเด็ก ๆ และชุมชนบริเวณโดยรอบอย่างแท้จริง ซึ่งทักษะวิชาที่ได้รับความสนใจสูงสุดอันดับต้น ๆ จะเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับกีฬา ร้องเพลง และศิลปะ ที่เด็กส่วนใหญ่อยากเรียนแต่ครอบครัวไม่มีเงินทุนสนับสนุน แต่ศูนย์ฯ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนฟรี โดยมีเงื่อนไขเดียว คือ เด็ก ๆ ต้องเอาความรู้ที่ได้คืนสู่ชุมชนด้วย
นอกจากนี้ โครงการไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี ยังมีทีมอาสาสมัครทีทีบีราว 3,000 คน มาทำงานช่วยเหลือชุมชนกว่า 200 โครงการ โดยสิ่งที่สำคัญที่ได้จากกิจกรรมเพื่อสังคม คือ การสร้างจิตสำนึกให้กับพนักงาน ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น เป็นการเปิดโลกใหม่ ๆ และได้เห็นเพื่อนในมุมมองใหม่ที่อาจไม่เคยเห็นตอนทำงานในออฟฟิศ รวมถึงสร้างประสบการณ์ใหม่ ทำให้มีแรงบันดาลในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นผลลัพธ์ที่ประเมินค่าไม่ได้
สำหรับปัจจัยความสำเร็จในการทำงานกับเยาวชนและชุมชนนั้น มี 3 เรื่อง เรื่องแรกสำคัญที่สุดคือ การได้รับแรงสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงในองค์กร ซึ่งต้องเห็นความสำคัญของการทำเพื่อสังคมอย่างจริงใจและมีความยั่งยืน เรื่องที่สอง มาจากการที่ไฟ-ฟ้ามุ่งเน้นเรื่ององค์ความรู้ที่มาพร้อมความสนุกสนาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กในชุมชนที่อาจจะขาดโอกาส หรือมีต้นทุนติดลบ เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ในทักษะที่หลากหลาย และไม่ให้เรื่องเงินเป็นภาระหรืออุปสรรคในการเรียนรู้ และเรื่องสุดท้าย การปรับตัวและความยืดหยุ่นของไฟ-ฟ้า ที่พยายามปรับกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะต้องปรับตัวให้ทันเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก ๆ ในยุคปัจจุบัน
นางสาวมาริสา กล่าวสรุปว่า “ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ ดังนั้น เราต้องเข้าใจเด็กก่อน ต้องสำรวจความต้องการของเด็กและชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่และคุณครูไฟ-ฟ้ากว่า 40 คน ต่างต้องมีวิสัยทัศน์เดียวกันที่จะยึดความต้องการของเด็กเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเด็ก ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จ ส่วนความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้เด็กสนใจ และมุ่งมั่นที่จะเรียนให้จบหลักสูตร ซึ่งในแต่ละศูนย์ก็มีการแบ่งปันความสำเร็จและสะท้อนปัญหา เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน ทีทีบีเชื่อว่าศูนย์เรียนรู้ ไฟ-ฟ้า จะเป็นสถานที่ที่ให้โอกาสเด็ก ๆ ได้พัฒนาศักยภาพตัวเองให้กลายเป็นเด็กธรรมดาที่เป็นคนดีและมีความสุข มีโอกาสเป็นทั้งผู้รับ และผู้ให้ที่ดี ด้วยการนำทักษะทางศิลปะและทักษะชีวิตที่ได้เรียนรู้จากศูนย์ฯ แห่งนี้ ไปพัฒนาตนเองต่อยอดสู่ครอบครัว และสังคมรอบข้างให้ดีขึ้น ตอกย้ำปรัชญา Make REAL Change เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนเพื่อสังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน”