ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ Data Center เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ต้องพัฒนา เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลายเท่าตัว จากการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกิจกรรมทางธุรกิจ แนวโน้มการใช้ซอฟต์แวร์ ERP ที่ทำงานบน Public Cloud (Cloud ERP) จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งและธุรกิจผลิตสินค้า
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต คาดว่า จะเติบโตจากราว 1.8 ล้านล้านบาทในปี 2565 เป็น 5.8 ล้านล้านบาทในปี 2573 ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7 Zettabytes ในปี 2565 เป็น 26 Zettabytes ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นราว 3.7 เท่าในระยะเวลา 8 ปี ซึ่งต้องการ Data Center ในการจัดเก็บและประมวลผล ปัจจุบัน Data Center มี 3 รูปแบบหลัก คือ 1.การสร้าง Data Center เพื่อใช้ภายในองค์กร สำหรับองค์กรขนาดกลางและใหญ่ 2.การใช้ Private Cloud สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยทั้งสองรูปแบบเหมาะสำหรับจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญหรือเป็นความลับขององค์กร 3.การใช้ Public Cloud ซึ่งเหมาะกับองค์กรขนาดเล็ก
“Krungthai COMPASS ประเมินว่า SME จะได้ประโยชน์จากการใช้ Cloud ERP ซึ่งเป็น Public Cloud แบบ Software-as-a-Service (SaaS) มาเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น Cloud ERP ในส่วนระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management Module: CRM) และระบบบริหารทรัพยากรการผลิต (Material requirements planning Module) จะช่วยให้ผู้ประกอบการเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศพบว่า การหันมาใช้บริการ Cloud ERP จะช่วยเพิ่มยอดขายของผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง และธุรกิจผลิตสินค้าได้ 8% และ 13% รวมทั้งช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตสินค้าในช่วง 3 ปีแรกด้วย”
นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การลงทุนด้าน Data Center แต่ละประเภทมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันมาก ขึ้นกับขนาดและคุณสมบัติของแต่ละองค์กร โดยการสร้าง Data Center สำหรับองค์กรขนาดใหญ่จะใช้เงินลงทุนสูงถึง 3,600 ล้านบาท ตลอดอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี เหมาะกับองค์กรที่มีพนักงานจำนวน 7,400 คนขึ้นไป หากเป็นการลงทุน Micro Data Center จะใช้เงินลงทุนประมาณ 35 ล้านบาทตลอดอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี เหมาะกับองค์กรที่มีพนักงานจำนวน 75 คนขึ้นไป สำหรับการใช้ Private Cloud จะใช้เงินลงทุนประมาณ 6.8 ล้านบาทตลอดอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี เหมาะกับองค์กรที่มีพนักงานจำนวน 20 คนขึ้นไป ส่วน Public Cloud โดยเฉพาะ SaaS จะมีค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามระยะเวลา ปริมาณการใช้ และจำนวนของผู้ใช้งาน ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการ SME ที่ขาดบุคลากรด้านไอทีที่ทำหน้าที่ดูแลระบบปฏิบัติการ อุปกรณ์ไอที สำหรับ Data Center
“การเลือกใช้บริการ Public Cloud มีความเสี่ยงเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลและการละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) รวมทั้งความเสี่ยงด้านเสียหายของข้อมูลในกรณีเกิดภัยพิบัติ ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานสากลด้านความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ เช่น มาตรฐาน ISO/IEC 27001 และมีมาตรฐานรับรองว่าผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง หรือกู้คืนกระบวนการทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วในกรณีเกิดภัยพิบัติ อย่างมาตรฐาน ISO 22301 อีกด้วย”
ทีม Marketing Strategy
15 มีนาคม 2566