SCAP ฝ่าฟันปีมังกร กวาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 212 ล้านบาท ทำผลงานดีกว่าคาดแม้มีปัจจัยกดดันด้านกำลังซื้อที่หดตัว ด้านสถานการณ์รถยึดเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วส่งผลดีในครึ่งปีหลัง ประเมินแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อมอไซค์ใหม่ทั้งปีอยู่ในระดับทรงตัวด้วยคุณภาพสินเชื่อที่ดีมากขึ้น มั่นใจครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีกว่าครึ่งแรก ดันผลงานทั้งปีจบตามเป้า
บมจ.ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 หรือ SCAP เปิดเผย ผลการดำเนินงานของบริษัทไตรมาส 2/2567 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,983.98 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 212.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 109.23% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ไตรมาส 2/2567 อยู่ในช่วงที่บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นและปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าภายใต้ปัจจัยเดียวกัน บริษัทมีผลการดำเนินงานที่เติบโตมากขึ้น สะท้อนศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกิจที่มีเสถียรภาพ ท่ามกลางสภาวะกำลังซื้อที่หดตัวลง
ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี บริษัทมีรายได้รวม 4,051.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิรวม 313.69 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 34,325.49 ล้านบาท ซึ่งพอร์ตสินเชื่อขยายตัวในระดับทรงตัว สอดคล้องนโยบายบริษัทที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น
นอกจากนี้บ ริษัทยังคงเป้าหมายในการทำธุรกิจ ด้วยการเป็นเบอร์ 1 และเป็นผู้นำในตลาดเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ใหม่เป็นปีที่ 2 ซึ่งเมื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ พบว่ากำลังซื้อเกิดการหดตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยการบริหารจัดการที่ดีด้านเอ็นพีแอล ต้นทุนทางการเงิน การควบคุมคุณภาพสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรก บริษัทสามารถเติบโตและมีกำไรในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย แสดงถึงศักยภาพและการปรับตัวในการทำธุรกิจจนประสบผลสำเร็จที่ดีกว่าคาดในช่วงครึ่งปีแรกและเชื่อว่าครึ่งหลังปี 2567 บริษัทจะมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
ทั้งนี้ จากปัจจัยการขาดทุนรถยึดในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก จนปัจจุบันมีจำนวนรถยึดลดลงและกลับสู่ระดับภาวะปกติแล้วซึ่งจะส่งผลดีในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผ่านพ้นช่วงจุดต่ำสุดในปัจจัยดังกล่าวแล้วส่วนแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ประมาณ 2 ครั้งในปีนี้ สะท้อนว่าแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเริ่มเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาลง ดังนั้นเชื่อมั่นว่าในครึ่งปีหลัง บริษัทน่าจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจ่ายได้ดีมากยิ่งขึ้น มีผลทำให้ต้นทุนดำเนินธุรกิจของบริษัทลดลงและคาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้น นับเป็นการตอกย้ำด้านการบริหารการกู้ยืมเงินของบริษัทที่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้อง ซึ่งบริษัทจะดำเนินการกู้ยืมเงินตามความต้องการของธุรกิจเท่านั้น เพื่อให้ดอกเบี้ยจ่ายรวมอยู่ในระดับต่ำที่สุด