สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย มทร.ศรีวิชัย ชูความสำเร็จการพัฒนาศักยภาพการผลิตพริกไทย พันธุ์ปะเหลียน จนเกิดเป็นสินค้า GI เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ และ ผศ.ศจี ศิริไกร ผู้แทนคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ 2565 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) “โครงการพลิกโฉมการเรียนรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและศาสตร์เชิงบูรณาการ” และเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน “โครงการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพริกไทยตรัง พันธุ์ปะเหลียน คุณภาพสูง สู่โอกาสในการแข่งขันของจังหวัดตรัง” ซึ่งได้รับ รางวัลดีเด่น ด้านการนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริการวิชาการ ไปใช้ในการพัฒนายกระดับศักยภาพของภาคการผลิตและการบริการ จาก การประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของสำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดยมี ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ณ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จ.ตรัง
Reinventing University พลิกโฉมศาสตร์เชิงบูรณาการเพื่อเกษตรสมัยใหม่
โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ถือเป็นการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ด้วยการปฎิรูประบบการศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยกําหนดนิยาม คุณลักษณะ ตัวชี้วัด และนิยามเชิงปฏิบัติการครอบคลุมผลการดําเนินงาน และศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละกลุ่ม เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งได้ใช้ความสามารถและศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ใช้วิธีการกําหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ กลุ่มพัฒนาการวิจัย ระดับแนวหน้าของโลก, กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม, กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น, กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) เป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม
ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) ประจำวิทยาเขตตรัง กล่าวถึงผลการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวว่า มทร.ศรีวิชัยได้ดำเนินโครงการพลิกโฉมการเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและศาสตร์เชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาและผลักดันงานภาคการเกษตรบนฐานเทคโนโลยี นวัตกรรมผ่านการลงทุนและการบริหารจัดการ ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ เพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจเกษตร อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากร โดยพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของธุรกิจภายใต้โครงการ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมของนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่โครงการ รวมทั้งการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านธุรกิจเกษตรร่วมกับสถานประกอบการ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร ด้านสัตว์เศรษฐกิจ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์

พลิกโฉมปั้นธุรกิจเกษตรสมัยใหม่
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการดำเนินงานของ มทร.ศรีวิชัย ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ว่า มทร.ศรีวิชัย มีความมุ่งมั่นกับการสร้างและพัฒนาผู้เรียนที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อประยุกต์ใช้สำหรับการสร้างผลงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือสาธารณประโยชน์ได้ นอกจากนี้ ยังได้สร้างโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งในภาคการผลิตและบริการ สงผลทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรใหม่ร่วมกับสถานประกอบการด้านธุรกิจเกษตร เพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษา บุคลากร และผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญตอบสนองธุรกิจเกษตร จนสามารถสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรายใหม่และได้สินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานสากล (มาตรฐาน GAP) พร้อมทั้งได้ปรับปรุงศักยภาพของการบริหารจัดการหน่วยทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี จนเกิดการต่อยอดและพัฒนา เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากพริกไทย “พันธุ์ปะเหลียน”โดย ผศ.ประภาศรี ศรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขตตรัง
โครงการ Flagship พริกไทย “พันธุ์ปะเหลียน”
หนึ่งในการต่อยอดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ถือเป็นโครงการ Flagship นั้น คือ โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากพริกไทย “พันธุ์ปะเหลียน” ที่เป็นพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตรังมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพริกไทยตรัง พันธุ์ปะเหลียน คุณภาพสูง สู่โอกาสในการแข่งขันของจังหวัดตรัง

ทั้งนี้ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวชื่นชมว่า นี่คือโครงการ Flagship ของ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และได้สร้างโซ่คุณค่า (Value Chain) ครบตลอดทั้งกระบวนการ รวมทั้งการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยคุณสมบัติมีรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนกว่าพริกไทยทั่วไป ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และพัฒนาศักยภาพการปลูกและการผลิตพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย มีรายได้เพิ่มขึ้น และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พร้อมขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้ประกอบการ เพื่อขยายผลการดำเนินงาน จนเกิดเป็นสินค้า GI อย่างเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจนในปี 2566

ผู้ประกอบการจำนวน 41 รายได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ซึ่งมีผลต่อการยอมรับของผู้บริโภคสู่การขยายผลในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยและตอบโจทย์เป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจมากขึ้น และสนับสนุนการยกระดับผู้ประกอบการส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงมิติทางสังคม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มวิสาหกิจ ซึ่งเป็นพันธกิจที่มหาวิทยาลัยฯ ควรดำเนินกิจกรรมร่วมกับสถานประกอบการ และมุ่งเน้นและพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและ licensing technology ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อขยายผลขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานให้ทุนอื่นต่อไป”