พอลล์ กาญจนพาสน์ นำทัพ “บางกอกแลนด์” สู่ “เมืองน่าอยู่”

“บางกอกแลนด์” ถือเป็นโครงการมิกซ์ยูสโครงการแรกๆ ของประเทศไทย โดยมาจากจุดกำเนิดของผู้ก่อตั้งรุ่นคุณปู่ และคุณพ่อของ “คุณพอลล์ กาญจนพาสน์” ที่บุกเบิกโครงการอสังหาริมทรัพย์ด้วย “จุดต่าง” ที่ต้องการปักหลักพัฒนาและต่อยอดโครงการต่างๆ อยู่บนพื้นที่ผืนใหญ่ที่เมืองทองธานีจำนวน 4,000 ไร่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สวนทางกับแนวคิดของธุรกิจพัฒนาที่ดินโดยทั่วไปที่พัฒนาโครงการบนที่ดินต่างๆ และเมื่อขายโครงการหมดแล้วก็พัฒนาโครงการบนที่ดินผืนใหม่ใหม่เป็นวงจรเช่นนี้ไปตลอด

ทว่า เส้นทางธุรกิจของเมืองทองธานี 5 ทศวรรษนี้เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วหลายวิกฤติ โดยเฉพาะวิกฤติต้มยำกุ้งที่ตระกูลกาญจนพาสน์มีหนี้หลักหมื่นล้านบาท ซึ่งการฝ่าวิกฤติครั้งนั้นครอบครัวนี้ใช้ทักษะการเจรจาประนอมหนี้ และการพลิกฟื้นผืนดินว่างเปล่าหลายพันไร่ของครอบครัวให้กลายเป็นรายได้จนพลิกชีวิตกลับมาได้ โดยหนึ่งในนั้นคือ “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ที่ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์  สถานที่จัดงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ตระดับประเทศและระดับโลก

นอกจากนี้ ล่าสุด บางกอกแลนด์ก็ยังถูกท้าทายจากสถานการณ์ล่าสุด “วิกฤติโควิด” ซึ่งครั้งนี้ระยะเวลาวิกฤติครังนี้ยาวนานเกินคาด จนทำให้คุณพอลล์ต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำ และไม่อยากทำมากที่สุด นั่นคือ การลดขนาดองค์กร และ การลดเงินเดือนพนักงาน ซึ่งการก้าวข้ามวิกฤติแต่ละครั้งก็ทำให้ถอดบทเรียนได้ว่า ความยืดหยุ่น การบริหารความเสี่ยง การรักษาสภาพคล่องและการบริหารกระแสเงินสด คือ ความจำเป็นเพื่อก้าวข้ามวิกฤติแต่ละระลอก

สำหรับทิศทางของ “บางกอกแลนด์” ในวาระครบรอบ 50 ปีนั้น คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอกแลนด์ ให้ภาพรวมถึงเป้าหมายที่ต้องการต่อยอดจากปั้นโครงการเมืองทองธานีที่เป็น Satellite City ให้เป็น Smart City และเป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน

ทิศทางในวาระครบรอบ 50 ปีของ “บางกอกแลนด์” เป็นอย่างไร

ต้องบอกว่า ในวาระครบรอบ 50 ปีของบางกอกแลนด์นั้น เราถือเป็นหมุดหมาย (Milestone) ที่ยิ่งใหญ่ ฃณะที่ อิมแพค เมืองทองธานีก็ครบรอบ 25 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบางกอกแลนด์ เมืองทองธานี หรืออิมแพคล้วนมาจากการทำงานด้วย “ใจรัก และ ใจสู้” ของพวกเรา เพราะตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่า เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาค่อนข้างเยอะ ถ้าไม่ใจสู้ หรือถ้าไม่ตั้งใจ ผมว่าเราคงอยู่ไม่ได้นถึงทุกวันนี้

สำหรับอนาคตของเมืองทองธานีนับจากนี้ ต้องย้อนกลับมาพูดถึงจุดเริ่มต้นของบางกอกแลนด์ และเมืองทองธานีเมื่อหลายสิบปีก่อนที่คุณปู่และคุณพ่อใช้คอนเซ็ปท์ของโครงการจากฮ่องกง โดยต้องการให้ที่นี่เป็น Satellite City (เมืองบริวาร เพื่อลดความแออัดของพื้นที่ชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ) โดยทำให้ที่นี่เป็นเมืองที่ครบวงจรทั้งการอยู่อาศัย การทำงาน จนถึงความบันเทิง

เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันที่เป็นยุคของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ และดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ  ฉะนั้น เราจึงยิ่งต้องพัฒนาตนเอง เพื่อให้ตอบโจทย์ของความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบันด้วย  อาทิ การตอบโจทย์สังคมไร้เงินสดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระบบเพย์เม้นท์ และระบบอีคอมเมิร์ซในช่วงวิกฤติโควิด เช่น อาลีเพย์ แรบบิดเพย์ ทรูวอลเล็ต  การสั่งอาหาร/สินค้าทางออนไลน์หรือระบบเดลิเวอรี่ ฯลฯ พร้อมทั้งการประสานงานกับสถาบันการเงิน เพื่อให้มีระบบเพย์เม้นท์กับร้านค้าในโครงการ ตลอดจนผู้อยู่อาศัยในโครงการให้สามารถทำธุรกรรมได้ผ่านแอปพลิเคชั่น ระบบเพย์เม้นท์ ระบบการแจ้งเตือนต่างๆ ทางออนไลน์

ทิศทางที่วางไว้นี้ต้องการไปให้ถึงเป้าหมายหรือจุดไหน

ในภาพใหญ่ บางกอกแลนด์ กำลังพัฒนาตนเองให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart City ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ ของการเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นประกอบด้วย 7 แนวคิดของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เช่น การขนส่ง คน ความยั่งยืน ฯลฯ แตมีประเด็นหนึ่งที่กลับไม่ได้ใส่ไว้ในแนวคิดหลักเหล่านี้ก็คือ “การสร้างงาน การสร้างรายได้” ให้กับชุมชน ซึ่งเราต้องการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับลูกบ้านและผู้อยู่อาศัยในเมืองทองธานี ดังนั้น เราจึงตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้เมืองทองธานีเป็นมากกว่าโครงการอยู่อาศัยที่สะดวกสบาย หากแต่เป็นแหล่งที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวัน และในปีนี้ก็เชื่อว่าจะมีโมดูลอื่นๆ ที่จะให้ประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับคนแถวนี้อีกด้วย

ประเด็นที่อยากไฮไลท์ในมุมของผม คือ การพัฒนาเมืองทองธานีให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) นั้นมิได้เกิดประโยชน์แค่เฉพาะบางกอกแลนด์เท่านั้น หากแต่เป็น “ความชอบ และ ความเชื่อ” ที่เรามองว่า เราอยากที่จะทำให้ “โลกใบนี้น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป”

ถ้าหากเราคิดแค่การทำกำไรสูงสุดเท่านั้น หรือมุ่งควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมากๆ นี่ก็อาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ “เราได้ แต่คนอื่นเสีย” สุดท้าย ผู้อยู่อาศัยก็จะไม่มีความสุข แต่สิ่งที่จะอยู่กันได้อย่างยั่งยืน นั่นคือ ทุกฝ่ายต้อง Win-Win ทั้งผู้อยู่อาศัยที่มีความสุข และสามารถสร้างรายได้ได้ และโครงการ

นี่จึงทำให้บางกอกแลนด์มุ่งพัฒนาตนเอง เพื่อขยายฐานและต่อยอดกับดิจิทัลสไตล์ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น IMPACT Keep Me แอปพลิเคชั่นของ “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ทีต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานสร้างอาชีพแก่ผู้คนและชุมชนโดยรอบ เพื่อขานรับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของผู้คน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่กำลังมองหางาน และเพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานของระบบการจ้างพนักงานรายวันได้แบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่สำคัญ สามารถลดปัญหาการหาคนทำงานยาก พร้อมสร้างแรงจูงใจให้พนักงานรายวันที่เคยทำงานร่วมกับอิมแพ็ค เมืองทองธานี ให้กลับมาร่วมงานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ IMPACT Keep Me จะทำหน้าที่แจ้งข่าวการจ้างงานพนักงานรายวันกับผู้อยู่อาศัยที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก เช่น การรับสมัครพนักงานต้อนรับหน้าเคานท์เตอร์ เชฟ พนักงานเสิร์ฟ ฯลฯ และเป็นแอปพลิเคชั่นที่ได้รางวัลด้านนวัตกรรมจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของบางกอกแลนด์ จากเดิมที่เราเป็นธุรกิจพัฒนาที่ดิน แต่จากการร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) ของบรรดาพนักงานร่วมกับทางบริษัทฯ ที่ต้องการดูแลชุมชนในเมืองทองธานีให้เป็น “เมืองน่าอยู่” สำหรับทุกคน ดังนั้น การที่ IMPACT Keep Me ได้รับรางวัล Gold Award จากโครงการ Thailand HR Innovation Award 2023 จัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของพวกเราชาวบางกอกแลนด์ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่ผู้คน ควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรรมโดยบุคลากรภายในองค์กร

คิดว่า บางกอกแลนด์ มีความแตกต่างจากธุรกิจพัฒนาที่ดินอื่นๆ อย่างไร

ผมว่า บางกอกแลนด์ เป็นธุรกิจพัฒนาที่ดินที่ไม่เหมือนกับบริษัทอื่นๆ ในแง่ทิศทางการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจเรียลเอสเตทก็จะซื้อแลนด์แบงก์แปลงใหญ่ แปลงเล็กไว้เพื่อพัฒนาโครงการ เมื่อพัฒนาเสร็จก็ขายและมองหาที่ดินใหม่เพื่อพัฒนาต่อ เรามีพื้นที่ 4,000-5,000 ไร่และเรายังเป็นเจ้าของที่ดินที่สามารถพัฒนาต่อได้อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่

ที่สำคัญ เราต้องการปักหลังที่เมืองทองธานีตรงนี้ และเรามีสิ่งที่คนอื่นไม่มี ทั้งในแง่ของขนาดพื้นที่ และการทำอะไรในโครงการก็สร้างผลประโยชน์ให้กับผู้อยู่อาศัย ดังนั้น โมเดลธุรกิจของเราจึงมิใช่แค่การพัฒนาโครงการแล้วหาที่ดินเพื่อพัฒนาใหม่ แต่เราอยู่ที่นี่ เพื่อต่อยอดจากการพัฒนาที่ดินของเรา และจะเป็นธุรกิจที่จะทำให้เราสามารถส่งต่อให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานให้สามารถทำได้อีกมาก เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้มีโครงสร้างพื้นฐาน และทีมงานที่แข็งแรง รวมทั้งพยายามทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่ทั้งในแง่ของการเป็นเมืองสีเขียว ในแง่ของการไหลเวียนเข้าออกของประชากรในโครงการ (Traffic) และส่วนที่จะต้องสร้างไว้บนปัจจัยเหล่านี้ คือ ดิจิทัล และ ผู้อยู่อาศัยต้องมีรายได้ที่เพียงพอ นอกจากนี้ เรามองการพัฒนาโครงการในระยะยาวที่มากกว่า 3-5 ปี โดยมองถึงการพัฒนาเมืองให้รองรับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในปัจจุบัน รวมทั้งก้าวไปพร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศ

ขณะนี้การเดินทางมาเมืองทองธานีก็สะดวกสบายขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้า มองถึงจำนวน Traffic ว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไร

เรื่องการคมนาคมขนส่งนั้นถือเป็นปัจจัยหนึ่งของการที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ดังนั้น การที่มีรถไฟฟ้าที่จะเข้ามาให้บริการในพื้นที่ได้ในปี 2568 ถือเป็น Game Changer สำหรับเมืองทองธานี อย่างน้อยก็เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของผู้คน เพราะช่วยบริหารเวลาเดินทาง ประหยัดค่าเดินทาง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หลีกเลี่ยงปัญหารถติดในเมืองทองธานีและถนนแจ้งวัฒนะ และหลีกเลี่ยงปัญหาแท็กซี่เรียกราคาอย่างไม่เป็นธรรมได้ด้วย แต่ที่สำคัญ ยังเป็นการยกระดับประสบการณ์การเดินทางมาที่เมืองทองธานีด้วย

นอกจากนี้ การคมนาคมที่สะดวกขึ้นยังมีผลต่อการไหวเวียนของจำนวนประชากรที่เข้า/ออกโครงการด้วย แต่คงไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขชัดเจนได้ เพราะยังมีตัวแปรที่มาจากจำนวนเที่ยวของรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม หากเทียบเคียงจากปัจจุบันกรณีอิมแพคจัดงานก็จะทำให้มีผู้คนเข้ามาที่เมืองทองธานีประมาณ 2-3 แสนคนขึ้นกับว่ามีการจัดงานประเภทใดในเมืองทองธานี นอกเหนือจากฐานจำนวนประชากรที่อยู่ที่นี่อยู่เดิมประมาณ 3 แสนคน แต่จะสามารถขึ้นไปได้ถึง 1 ล้านคนได้หรือไม่ ตรงนี้ยังไม่แน่ใจ

ขณะเดียวกัน การไหวเวียนของจำนวนประชากรที่เข้า/ออกโครงการก็ยังมีตัวแปรที่เกี่ยวกับจำนวนการจัดงานในโครงการฯ ด้วย แต่ในปี 2567 ก็ถือว่ามีสัญญาณที่ดีแล้วเราก็ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยบวก เพราะหลังโควิดก็ทำให้การจัดงานคอนเสิร์ต ตลอดจนการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆ กลับมาตามปกติ ซึ่งบางครั้งอารีน่าไม่ว่างก็มีการจัดคอนเสิร์ตที่ฮอลล์ นอกจากนี้ ก็เคยมีการจัดงาน 3 คอนเสิร์ตในวันเดียวกันก็มี

ส่วนการจัดงาน Exhibition, Trade Show, Consumer Show นับได้ว่า สถานการณ์จากปัจจุบันถึง 2 ปีข้างหน้าถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จำนวน Exhibitor อาจจะลดลงไปบ้าง เพราะ SME บางกลุ่มก็ยังได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่ เมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ แต่เมื่อมองในภาพรวมก็ถือว่ากลับมาในสัดส่วน 80-90%แล้วเมื่อเทียบกับฐานของปีที่เกิดวิกฤติโควิด

สำหรับการขายงานล่วงหน้าของเมืองทองธานีที่มีทั้งระยะสั้น 3-5 เดือนและระยะยาว 3 ปี 5 ปีนั้น กล่าวได้ว่า อนาคตของตลาดการจัดงานนี้ถือว่าดี เนื่องจากส่วนหนึ่งผู้จัดงานมีความเชื่อมั่นกับผลงานการจัดงานที่ประสบความสำเร็จของเมืองทองธานี รวมทั้งบริการทั้งกระบวนการโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่โครงการฯ มีให้กับผู้จัดงานและลูกค้าผู้มาดูงานด้วย เพราะถ้า “ลูกค้าของลูกค้า” ซึ่งก็คือ “ผู้มาดูงาน” ไม่อยากมาเดินดูงานก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ จุดแข็งอีกประการที่สนับสนุนให้ลูกค้าคิดถึงการจัดงานที่เมืองทองธานี คือ พื้นที่ของเราที่มีขนาดใหญ่กว่าผู้เล่นรายอื่นและสามารถขยายงานได้สะดวก

มองว่า ความท้าทายในปีนี้ยังคงมีหรือไม่

ผมมองว่า ความท้าทายที่เป็น “ปัจจัยภายนอก” นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่ก็เชื่อว่า รัฐบาลเองก็พยายามที่จะแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดในมุมของผม คือ การแข่งขันกับตนเอง

สำหรับโมเดลธุรกิจของบางกอกแลนด์ ผมมองว่า เราอยู่ในภาคส่วนของธุรกิจบริการ ดังนั้น การทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของคอนโดมิเนียม ลูกค้าที่ต้องการเช่าช็อปเพื่อเปิดร้านค้า ลูกค้าที่มาจัดงานในโครงการ ตลอดจนถึงผู้ที่มาดูงาน/ดูคอนเสิร์ต ฯลฯ การใช้งบลงทุนกับสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่เรื่องยาก แต่การลงทุนเพื่อสร้างทีมที่มีความเข้าใจลูกค้า สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้นั้นต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้น เราจึงต้องทุ่มเทความพยายาม รวมทั้งต้อง “ใจสู้ – ใจถึง” ด้วย

สำหรับปีนี้ เราจะกลับมาโฟกัสที่อิมแพคอีกครั้ง เนื่องจากอิมแพคยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก มากกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ เราต้องมีพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์

ส่วนประเด็น “เมืองน่าอยู่” ก็ยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นเมืองทองธานี หรือระดับประเทศชาติ เพราะเราควรสร้างโลกที่น่าอยู่ให้กับทายาทรุ่นต่อไป

นอกจากนี้ จากการที่ “เมืองทองธานี” เป็นพื้นที่ปิด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ถนน และพื้นที่รอบๆ นั้นเป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของบางกอกแลนด์ ทางบริษัทฯ ได้คุยกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อนำเสนอว่า หากสตาร์ทอัพ หรือเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมเกี่ยวกับ Smart City, Smart Living เมืองทองธานีก็พร้อมที่จะเป็นสนามให้ทำ “แซนด์บ็อกซ์” (Sandbox) เพื่อทดสอบระบบ ทำงานด้วยกัน  โดยจะมาทดสอบโดยใช้พื้นที่ที่นี่ หรือจะนำโครงการมาเสนอให้ทางเมืองทองธานีลงทุน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับโครงการของเราและต่ออดไปใช้งานในระดับประเทศได้ เราก็ยินดี เพราะนี่คือส่วนหนึ่งที่เราจะสามารถคืนประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติได้


ขอขอบคุณ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.บางกอกแลนด์
ฝ่ายสื่อสารองค์กร Lenotre Culinary Arts School Thailand
คุณ ฉัตรเกรียงไกร ศรีสุวรรณ บริษัท ทริปเพิ้ล กรุ๊ป จำกัด

บรรณาธิการ จุฑาทิพ อิงวัฒนโภคา
ถ่ายภาพและตัดต่อ. อนันต์ บุตรเวียงพันธ์, ณัฐวุฒิ จริยสมบูรณ์