- ดร. บดินทร์ วงศ์วิทยาภิรมณ์ | ผู้จัดการอาวุโส – Sustainability & Climate CoE
- ธนิดา ลอเสรีวานิช | ผู้ช่วยผู้จัดการ – Sustainability & Climate CoE
- ดีลอยท์ ประเทศไทย
ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่โลกต้องเผชิญ ภาคการเงินในฐานะผู้จัดสรรเงินทุนให้แก่ระบบเศรษฐกิจจึงริเริ่มพัฒนานโยบายและเครื่องมือที่ช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันการณ์ หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญได้แก่ Taxonomy หรือ ระบบนิยามเพื่อจำแนกประเภทที่นำมาใช้ระบุกิจกรรม สินทรัพย์ และสัดส่วนรายได้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เพื่อให้แต่ละภาคส่วนมีนิยามของกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ตรงกัน ดังนั้น Taxonomy จึงไม่ใช่กฎระเบียบที่บอกว่ากิจกรรมใด “ดี” หรือ “ไม่ดี” แต่เป็นนิยามกลางที่ใช้เป็นจุดยึดโยงและเป็นแนวทางกำหนดนโยบาย วางกลยุทธ์ และประเมินความเสี่ยงเพื่อวางแผนปรับตัวของภาคธุรกิจในอนาคต
Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ที่ได้เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ครอบคลุมกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) ในภาคพลังงานและขนส่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 คณะทำงาน Taxonomy ได้เริ่มจัดประชุมเพื่อเริ่มจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ซึ่งระยะนี้จะขยายขอบเขตภาคธุรกิจเพิ่มเติมโดยให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคการจัดการของเสีย และภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โดยยังคงมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนในระยะที่ 1 คาดว่าขอบเขตของกิจกรรมในแต่ละภาคธุรกิจจะคำนึงถึงนโยบายและบริบทของประเทศเป็นสำคัญ ตลอดจนยังคงคำนึงถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานของต่างประเทศด้วย
เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจ Thailand Taxonomy กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ บทความนี้จะนำเสนอการคาดการณ์การพัฒนา Thailand Taxonomy ในระยะที่ 2 ของแต่ละภาคอุตสาหกรรมว่ามีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาในรูปแบบใด
- ภาคอุตสาหกรรมการผลิต
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงและมีความท้าทายในการลดการปลดปล่อยอย่างมีนัยสำคัญ (hard-to-abate sector) รวมถึงมีต้นทุนสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีการลดการปล่อยของก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต คาดว่าการจัดทำ Thailand Taxonomy ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะคำนึงถึงบริบทของประเทศเป็นหลักและพิจารณากลุ่มกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการหรือนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสากลร่วมด้วย
เมื่อพิจารณา Taxonomy ที่เริ่มบังคับใช้และเป็นที่ยอมรับระดับสากล เช่น EU Taxonomy, Singapore-Asia Taxonomy และ CBI Taxonomy พบว่าครอบคลุมอุตสาหกรรมหนักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงและมีความท้าทายในการลด รวมถึงกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบต่างๆ โดยเงื่อนไขและตัวชี้วัดจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของ Taxonomy และบริบทของประเทศที่จัดทำ
ดังนั้น คาดการณ์ว่าสำหรับภาคอุตสาหกรรม Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จะให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎเกณฑ์ เงื่อนไขและตัวชี้วัดที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- ภาคการเกษตร
ภาคการเกษตรไทยมีความเปราะบางสูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็นร้อยละ 15.23 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทย
Taxonomy ระดับภูมิภาคหรือประเทศอื่นๆ ในปัจจุบัน มักครอบคลุมพืชยืนต้น พืชล้มลุก และปศุสัตว์โดยที่ไม่ระบุเจาะจงพันธุ์พืชหรือสัตว์ อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ประเทศที่มีสัดส่วนการทำเกษตรกรรมสูงเริ่มมีการระบุเงื่อนไขและตัวชี้วัดของพืชเศรษฐกิจรายตัว Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จึงมีแนวโน้มที่จะผสมผสานการระบุเงื่อนไขและตัวชี้วัดทั้ง 2 แบบ ทั้งเกณฑ์ภาพรวมและเกณฑ์แยกของพืชเศรษฐกิจสำคัญรายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา และอ้อย
นอกจากนี้ อาจพิจารณาขยายขอบเขตการเลี้ยงสัตว์ให้รวมสัตว์น้ำที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change adaptation) เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมหรือการดำเนินงานที่ช่วยลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคตไว้ด้วย
- ภาคการจัดการของเสีย
ภาคการจัดการของเสียมีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ปัจจุบันไทยยังประสบปัญหามีขยะมูลฝอยที่กำจัดอย่างไม่ตามหลักปฎิบัติการ และมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกวิธีรวมถึงเตาเผาขยะที่ไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศและจุดเผากำจัดกลางแจ้ง
สำหรับการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 คาดว่าจะมีการพิจารณาระบุขอบเขตของกิจกรรมที่สอดคล้องไปกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และไปในแนวทางเดียวกับ Taxonomy ระดับสากล อาทิ การจัดเก็บและขนส่งขยะไม่อันตราย การบำบัดขยะด้วยวิธีการเชิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิล รวมถึงการจัดตั้งโรงบำบัดน้ำเสียและระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล
- ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
การเปรียบเทียบมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นความท้าทายเมื่อต้องพัฒนา Taxonomy เพราะในแต่ละมาตรฐานใช้ตัวชี้วัดที่ต่างกัน ทำให้บางมาตรฐานอาจเน้นตัวชี้วัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยตรง Taxonomy ที่จัดทำในระยะหลังจึงแก้ปัญหาด้วยการกำหนดรายชื่อมาตรฐานที่สามารถใช้อ้างอิงได้ เช่น ใน Singapore-Asia Taxonomy กำหนดให้อ้างอิงมาตรฐานที่ Climate Bonds Initiative ให้การรับรอง โดยมีครอบคลุมการก่อสร้างอาคารใหม่ การปรับปรุงอาคารเดิม การซื้อหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ และการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน ดังนั้น Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 สามารถใช้วิธีการดังกล่าวในการจัดทำรายชื่อกิจกรรม เงื่อนไข และตัวชี้วัดเพื่อลดความลักลั่นระหว่างมาตรฐานได้เช่นกัน
คณะทำงานฯ จะเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างเอกสารมาตรฐาน Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จากสาธารณชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 และคาดว่าจะเผยแพร่ภายในปีถัดไป
ระหว่างนี้ ธุรกิจใน 4 ภาคเศรษฐกิจที่กล่าวถึงข้างต้น ควรติดตามการพัฒนาขอบเขตและหลักเกณฑ์ผ่านสมาคมหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้ง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 และนโยบายหรือกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิต เก็บข้อมูลเพื่อรับสิทธิประโยชน์ หรือจัดทำรายงานที่อาจเกิดขึ้นเป็นภาคบังคับในอนาคต