Renewable diesel เป็นทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทางถนนเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น Renewable diesel หรือน้ำมันดีเซลที่ผลิตจากชีวมวล (เช่น น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ น้ำมันพืชใช้แล้ว หรือขยะชีวมวลอื่น ๆ) ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับและสามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเป็นอีกทางเลือกของการไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ ข้อจำกัดของขนาดแบตเตอรี่ ประสิทธิภาพการใช้งานในการขนส่งระยะทางไกล และการลงทุนเพิ่มเติมในโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่การสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลนั้นมีข้อจำกัดด้านปริมาณการใช้ นอกจากนี้ Renewable diesel ยังถือเป็นแนวทางในการปรับตัวของผู้ผลิต โดยเฉพาะในกลุ่ม Oil & Gas ต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy transition) และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น
อุตสาหกรรม Renewable diesel เกี่ยวเนื่องกับผู้เล่นในหลายภาคส่วน
Ecosystem ของ Renewable diesel ที่มีความซับซ้อน ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรม Renewable diesel นั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน ต้นทุนการลงทุนและการดำเนินงานที่สูง และจำเป็นต้องพึ่งพานโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ Ecosystem ของอุตสาหกรรม Renewable diesel มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้เล่นจากหลายภาคส่วน และมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและตลาดของเชื้อเพลิง วัตถุดิบ และเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยความเสี่ยงเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง หรืออาจต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อปรับการผลิตให้สอดรับกับพลวัตของ Ecosystem ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการเข้าเป็นผู้เล่นในตลาด (Barriers to entry) และเป็นปัจจัยทำให้ราคายังไม่สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ทำให้อุตสาหกรรม Renewable diesel นั้นยังจำเป็นต้องพึ่งพา และมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างมาก
ความเข้าใจใน Ecosystem ของ Renewable diesel และการออกแบบการผลิต เป็นหัวใจสำคัญ
สำหรับผู้ประกอบการ ความเข้าใจใน Ecosystem ของ Renewable diesel และการออกแบบการผลิตให้สามารถปรับตัวต่อพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากภายใน Ecosystem ของ Renewable diesel นั้นมีความไม่แน่นอนหลายประการ จากพลวัตการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความผันผวนของตลาดผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง ความท้าทายในการจัดหาหรือแปรรูปวัตถุดิบ ตลอดจนข้อกำหนดหรือนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนขั้นต้นในอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรทำความเข้าใจภาวะตลาดและศึกษาถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อปัจจัยเหล่านี้ใน Ecosystem ให้รอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน รวมถึงการออกแบบการผลิตเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น (Resilience) และสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างเช่น ทิศทางการสนับสนุนจากภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ หรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตหรือกระบวนการดำเนินงานที่ต่างไปจากการตัดสินใจลงทุนขั้นต้น นอกจากนี้ การเพิ่มความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบอย่างเช่น การเข้าไปร่วมมือกับกลุ่มผู้จัดหาและจำหน่ายวัตถุดิบ จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถกระจายความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจได้
อุตสาหกรรม Renewable diesel จำเป็นต้องพึ่งพานโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ
นโยบายสนับสนุน Renewable diesel นั้นควรมีความสอดคล้องกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริบท และเป้าหมายอื่น ๆ ของประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ และเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลอดทั้ง Ecosystem สำหรับไทย Renewable diesel นั้นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีศักยภาพเพื่อเปลี่ยนผ่านภาคการขนส่งทางถนนเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรและวัสดุเหลือใช้ และเพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการปรับตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เผชิญความเสี่ยงจาก Energy transition อย่างไรก็ดี โดยทั่วไป ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้น การมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบริบทของประเทศ อย่างเช่น การกำหนดและบังคับใช้เป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของภาคการขนส่งทางถนน เพื่อช่วยให้บทบาทและความสำคัญของการใช้ Renewable diesel นั้นมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดจนมีการบูรณาการเข้ากับเป้าหมายอื่น ๆ ของประเทศซึ่งจะช่วยสร้างความชัดเจนของแนวทางการสนับสนุน ลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องใน Ecosystem และเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลอดทั้ง Ecosystem เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีความพร้อมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และทำให้การใช้ Renewable diesel นั้นสามารถมีส่วนช่วยให้ภาครัฐบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ได้