กรุงเทพประกันชีวิต ประกาศผลการดำเนินงานในปี 2566 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 34,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรกกว่า 6,800ล้านบาท มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานกว่าทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท ย้ำฐานะการเงินแข็งแกร่งจาก CAR Ratio สิ้นปี 66 ที่ระดับ 405% เพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่ระดับ 377% ตั้งเป้าหมายปี 67 วางแผนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความใส่ใจทั้ง ผลิตภัณฑ์ บริการ และสร้างความแข็งแกร่งทุกช่องทางการขาย
นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 ว่า กรุงเทพประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2566 จำนวน 34,155 ล้านบาท โดยเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรกจำนวน 6,885 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในปี 2566 ทั้งสิ้น 2,548 ล้านบาท
โดยช่องทางธนาคารมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากผลิตภัณฑ์ในช่องทางธนาคารที่ได้รับผลตอบรับที่ดี ขณะที่ช่องทางตัวแทนมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกลดลงร้อยละ 2 และช่องทางอื่นๆ ลดลงร้อยละ 13
บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวน 325,931 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 ที่ร้อยละ 5 จากการลดลงของมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ลงทุน ทั้งนี้สินทรัพย์ลงทุนและเงินสดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97 ของสินทรัพย์รวม
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความมั่นคงของฐานะทางการเงินสูงจากระดับความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio – CAR ณ สิ้น ปี 2566 ที่ระดับร้อยละ 405 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ที่ร้อยละ 377 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 140%
ในปี 2566 บริษัทมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนบนรากฐานที่มั่นคงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมุ่งเน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง อาทิ ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในการวางแผนเกษียณ แฮปปี้ เพนชั่น (มีเงินปันผล) ประกันบำนาญที่มีผลประโยชน์ที่รับรองการจ่ายและมีโอกาสรับผลประโยชน์เพิ่มเติมจากเงินปันผล เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินเมื่อถึงวัยที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เน้นสร้างการออม เกนเฟิสต์ สปีด อัพ 15/8 และผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันปัญหาค่าใช้จ่ายการเงินจากค่ารักษาพยาบาล
“ในปีนี้ เราได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนด้วยความใส่ใจทุกด้าน ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และการขายผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางธนาคารที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้ตรงกับความต้องการทุกกลุ่มลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มการทำงานร่วมกับกลุ่มคู่ค้าที่มีศักยภาพสูง เพื่อให้เข้าใจความต้องการและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเป้าหมายสร้างการเติบโตในระยะยาว” นายโชนกล่าว