oft Power เป็นคำที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก และมีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่ต้องการผลักดัน Soft Power ให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างกระแสให้คนสนใจนำมาสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตามมา ซึ่งเป็นการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม คุณค่าทางสังคม เพื่อ “เชื้อเชิญ” ให้ผู้คนสนใจแล้วอยากทำตาม ดังเช่น กระแสเกาหลีฟีเวอร์ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือปรากฎการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ นักร้องวัยรุ่นไทย ในเทศกาลดนตรีครั้งใหญ่ของโลก Coachella 2022 ทำให้ทั่วโลกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรมออกแบบแฟชั่นเพื่อผลักดัน Soft Power ไทยสู่สากล” โดยมีดีไซเนอร์ชื่อดังในงานออกแบบแฟชั่น และสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมพูดคุยถึงแนวทางในการผลักดันวงการแฟชั่นไทยสู่สากล การนำความเป็นไทยสอดแทรกเข้าไปในงานดีไซน์
คุณอภิญานันท์ จงภักดีดีไซเนอร์เจ้าของทอไหมสตูดิโอ กล่าวว่า “ประเทศไทยมีประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่หลากหลาย มีความแฟนตาซีที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจ มีเสน่ห์ความเป็นไทยที่ชัดเจน บางครั้งสิ่งที่เป็น Soft Power ก็ถูกเรามองข้ามไป ถ้าเราสามารถเรียนรู้และดึงความน่าสนใจออกมาได้ ก็จะเป็นการต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้มองว่าความเป็นไทยสามารถผลักดันไปสู่สากลได้ แต่การที่จะนำความเป็นไทยมาใส่ในงานออกแบบ ก็มีอุปสรรคทางต้นทุนเช่นกัน เพราะงานแฮนด์เมดมีราคาที่สูง ต้นทุนการผลิตสูง ดีไซเนอร์บางคนจึงเลือกหยิบวัสดุอื่นมาใช้แทน ในอนาคตอยากให้มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคือกลุ่มผู้ผลิตงานแฮนด์เมดของไทย ชาวบ้าน และดีไซเนอร์”
คุณจิรัชญา ชัยยาศักดิ์ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ JIIRA แบรนด์เครื่องประดับที่ผสมผสานงานศิลปะ รังสรรค์จากแรงบัลดาลใจและความรู้สึก ผ่านงานเครื่องประดับร่วมสมัย เพื่อให้มองเห็นคุณค่าของงานฝีมือและงานออกแบบเป็นหลัก โดยมีส่วนประกอบหลักเป็นเครื่องเงินชาวเขา และไข่มุกน้ำจืด เน้นงานฝีมือที่ทําร่วมกับชุมชนภายในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน” กล่าวว่า “เสน่ห์ของไทยคือความเป็นธรรมชาติที่สอดแทรกอยู่ในทุกสิ่ง และสร้างแรงบันดาลใจได้เยอะมาก สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานได้ สำหรับน้องๆ หรือดีไซเนอร์รุ่นใหม่ อยากจะให้มี Passion หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง และขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยากให้มีเวทีสำหรับเด็กจบใหม่ เพราะน้องๆมีศักยภาพ ต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่เพื่อให้มีพื้นที่ของการแสดงผลงาน และเราจะได้เห็นผลงานดีๆอีกมาก”
ทางด้าน น้องนิปุณ นางสาวภัทรนิดา เฉลียวปัญญา ตัวแทนจากโครงการ Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power ปีที่ 2 กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าเวลาที่สวมใส่ผ้าไทย หรืออื่นๆ แล้วรู้สึกว่าดูแก่กว่าวัย ไม่เข้ากับบุคลิก รวมถึงงานฝีมือก็มีราคาสูงที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถจับต้องได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการที่จะทำให้ความเป็นไทยมีความโมเดิร์น และจับต้องได้ ปัจจุบันมีแบรนด์ที่ทำร่วมกับเพื่อนคือ ORITHAI ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่นำทุนทางวัฒนธรรมมาออกแบบให้ดูทันสมัย แต่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ชาร์มที่ใส่ประกอบในสร้อยข้อมือ ออกแบบเป็นรูปเครื่องดนตรีไทย ประเพณีไทย เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง ทำให้เราใส่ความเป็นไทยไปกับตัวเราในทุกๆที่ สวมใส่ความเป็นไทย ในชีวิตประจำวันได้เลย”
คุณประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ร่วมผลักดันศักยภาพสร้างสรรค์ของนักออกแบบไทยรุ่นใหม่มายาวนานกว่า 20 ปี ผ่านโครงการ Designers’ Room & Talent Thai เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ทั่วประเทศได้แสดงความสามารถด้านการสร้างสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนตัวตน ก้าวสู่การเป็นแบรนด์นักออกแบบหรือผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศระดับมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยที่ผ่านมามีนักออกแบบเข้าร่วมโครงการกว่า 744 แบรนด์ และได้สร้างนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก และยังมีโครงการ Design Service Society ที่เปิดเวทีให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้มาเจอกับผู้ประกอบการ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ที่จะได้มาเปล่งประกาย”
จากเวทีเสวนาสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของดีไซเนอร์และคนรุ่นใหม่ ที่มีเป้าหมายอยากให้วัฒนธรรมไทย ประเพณี วิถีชีวิต และเสน่ห์ของความเป็นไทย ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานการออกแบบให้ปรากฎสู่สากล ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้ Soft Power เกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างแพร่หลาย