พลเรือโท จรัสเกียรติ ไชยพันธุ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 พร้อมด้วย นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางสาวพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นางรำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า เทศบาลตำบลเกาะเต่า องค์กรภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนชาวเกาะเต่า ประกอบพิธีจัดวางเรือหลวงหาญหักศัตรู – เรือหลวงสู้ไพรินทร์ ซึ่งปฏิบัติภารกิจในท้องทะเลมากว่า 47 ปี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำอุทยานการเรียนรู้ใต้ทะเลพื้นที่เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี
พลเรือโท จรัสเกียรติ ไชยพันธุ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 กล่าวตอนหนึ่งว่า กองทัพเรือ โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารเรือท่านให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยในการด้านฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเลแล้ว ยังจะช่วยด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้ และอยู่ในพื้นที่มีความสำคัญของประเทศไทย
“ที่ผ่านมากองทัพเรือ เคยมอบเรือที่ปลดประจำการ เรือสัตกูด มาจัดวางเป็นจุดดำน้ำเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๕๔ ในยามปกติเรือรบเป็นพาหนะที่สำคัญในการป้องกันประเทศ การนำเรือที่ปลดประจำการมาจัดวางเรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังธรรมชาติถือเป็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ จึงถือว่าเป็นการรับใช้ชาติครั้งสุดท้าย และที่ผ่านมากองทัพเรือเองก็ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการจัดวางเรือเป็นอุทยานใต้ทะเลในหลายพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยในการลดผลกระทบการเข้าไปใช้ประโยชน์ ฟื้นฟูรักษาแนวปะการัง และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้เกิดความยั่งยืน”ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 กล่าว
ด้าน นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่เกาะเต่าว่า เกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางชายทะเลและชายฝั่งที่มีศักยภาพสูงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก เป็นแหล่งเรียนดําน้ำ ที่มีความสวยงามและราคาไม่สูง จึงมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนจากทั่วโลกปีละกว่า 7 แสนคน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศระหว่าง 2-5 พันล้านบาทต่อปี โดยมีความเชื่อมสัมพันธ์ด้านชุมชน เศรษฐกิจและสังคมอย่างใกล้ชิดกับเกาะพงัน และเกาะสมุย รวมถึงจ.สุราษฎร์ธานี และจ.ชุมพร
ส่วน นางสาวพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จากสภาวะโลกรวน ที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ปะการัง ซึ่งถือเป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง และจากการคาดการณ์ของนักวิทยา ศาสตร์ทั่วโลก วิเคราะห์ว่าในอนาคตอันใกล้ ปรากฏการณ์ลานีญา จะส่งผลให้เกิดอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น และอาจทำให้ปะการังเสียหายในหลายแห่ง เกาะเต่ามีแนวปะการังล้อมรอบยาวกว่า 8 กม. และมีการประโยชน์ทางทะเลเพื่อการท่องเที่ยวดำน้ำอย่างเข้มข้น ตลอดทั้งปี จึงจำเป็นต้องมีการจัดสมดุลของระบบนิเวศ และรับมือกับสภาวะดังกล่าว เพื่อการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยั่งยืน
“การจัดวางเรือเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำใหม่ จะช่วยลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำในแหล่งปะการังตามธรรมชาติ รวมถึงการจัดสร้างแปลงอนุบาลปะการัง เพื่อใช้ฟื้นฟูแนวปะการัง และส่งเสริมการศักยภาพการพัฒนาของปะการังและสัตว์น้ำเกาะติดต่างๆ บนโครงสร้างปะการังเทียมนี้ เป็นแนวทางที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำและเกิดประโยชน์ร่วมกันกับชุมชนหลายแห่ง” รองอธิบดีฯ กล่าว
ด้าน นางรำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า กล่าวว่า แนวปะการัง เป็นต้นทุนสำคัญยิ่งของสังคมและเศรษฐกิจของเกาะเต่า พวกเราเห็นความสำคัญว่าเราต้องร่วมกันอนุรักษ์ ดูแล ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลแห่งนี้ ให้มีประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศแปรปรวน เอลนีโญ และ ลานีญา ที่อาจส่งผลต่อแนวปะการังธรรมชาติที่มีความเปราะบาง
ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านดำน้ำ องค์กรสำหรับการฝึกดำน้ำแบบสกูบา ชมรม และผู้ประกอบ การชาวเกาะเต่ากว่า 64 แห่ง จึงร่วมมือร่วมใจสนับสนุนโครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกาะเต่า เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 8,607,000 บาท (แปดล้านหกแสนเจ็ดพันบาท) รวมถึงร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะเต่า และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วง ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นหน้าบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าที่สำคัญของเกาะเต่า”