วิกฤติที่โลกต้องเผชิญในปัจจุบัน ปัจจัยหลักมาจากการอุปโภคบริโภคอย่างสิ้นเปลืองของผู้คน ส่งผลให้ทรัพยากรทั่วโลกขาดแคลน แนวโน้มประชากรโลกเพิ่มขึ้น เสียสมดุลทางชีวภาพและเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม
จากรายงานความเสี่ยงประจำปี 2021 ของ World Economic Forum (WEF) เผยว่าในอีก 10 ปี มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดวิกฤติการณ์สภาพความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนภาคธุรกิจ
“การเปลี่ยนแปลง ปรับกลยุทธ์องค์กร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยื่น” และร่วมกันลดผลกระทบดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ของ บริษัท ทริสคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาการพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการ และ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ผู้ให้บริการจัดอันดับเครดิตให้กับองค์กรในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ จัดเสวนาในหัวข้อ Sustainability Strategy for Growth กลยุทธ์ความยั่งยืนเพื่อการเติบโต มุ่งเน้นแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์การส่งเสริมให้องค์กรภาครัฐและเอกชน ยกระดับการบริหารจัดการและพัฒนาองค์กร ตามหลัก Sustainability & ESG
นายสมพร จิตเป็นธม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เมื่อพูดถึงผลกระทบจากภายนอก (Externality) ภาคธุรกิจต่างๆ มักคิดว่าปัญหาดังกล่าวไม่เกี่ยวกับตัวเอง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก แต่เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า ธุรกิจที่ทำเรื่อง ESG ผลลัพธ์มักจะตกอยู่กับบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) กล่าวคือ การทำเรื่อง ESG อาจส่งผลดีต่อกำไรสุทธิของบริษัท หรืออาจช่วยให้การขาดทุนพลิกเป็นกำไรได้ ผ่านการลดต้นทุน การบริหารความเสี่ยงที่ดี และต้นทุนการระดมทุนที่ถูกลง
สำหรับบทบาทการสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมา ทริสคอร์ปอเรชั่น ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พัฒนาหลักเกณฑ์ State Enterprise Assessment Model (SE-AM) มุ่งเน้นขับเคลื่อน การจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า การจัดการทุนมนุษย์ และการกำกับดูแลที่ดี เพื่อเป็นโมเดลชี้วัดแก่หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจว่า องค์กรมีศักยภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาองค์กรได้ดีมากน้อยขนาดไหน เพื่อผลักดันให้รัฐวิสากิจและหน่วยงานภาครัฐหันมาสนใจเรื่อง ESG มากขึ้น
นอกจากภาครัฐแล้ว ทริสคอร์ปอเรชั่นมีบทบาทในการผลักดันเรื่อง ESG ในภาคเอกชน โดยร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาดัชนีหุ้นยั่งยืน (SET THSI) เพื่อให้รางวัลบริษัทจดทะเบียนที่ทำเรื่อง ESG ได้ดี รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ ESG กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เพื่อผลักดันให้บริษัทเหล่านี้มี ESG ที่ดีขึ้น
อีกทั้ง พัฒนา VUCA VACCINE กรอบแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างรอบด้าน
เพื่อสร้างความพร้อมต่อสภาพแวดล้อมในโลกธุรกิจยุคใหม่ และสามารถสร้างความได้เปรียบ
อันนำไปสู่ความเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า การระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายปี สะท้อนจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่มีการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) ซึ่งปริมาณการออกตราสารหนี้ดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ประเด็นในวันนี้ คือ การนำเรื่องความยั่งยืนเข้ามาอยู่ในกลยุทธ์การทำธุรกิจ
หากบริษัทปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนไม่ได้ อาจเจอความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากนโยบายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า เช่น การลดใช้ถุงพลาสติก การถูกต่อต้านจากสังคมสำหรับธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ความคาดหวังของผู้ถือหุ้นที่เปลี่ยนไป การตั้งคำถามและการวัดผล (KPI) เกี่ยวกับความยั่งยืน รวมถึงผลกระทบที่มาจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในทางกลับกัน หากบริษัทสามารถปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจได้ การปรับตัวจะกลายเป็นโอกาสที่จะนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ
สำหรับบทบาทของทริสเรทติ้ง คือ การสนับสนุนการปรับตัวให้แก่องค์กรต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับมือกับความเสี่ยง และพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มธุรกิจที่โดยเนื้อธุรกิจเองไม่ยั่งยืน เช่น ธุรกิจพลังงาน หรือธุรกิจโลจิสติกส์ ภาคการเงินก็ต้องให้การสนับสนุนผ่านด้วยเช่นกัน ผ่านการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) เพื่อช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งส่วนนี้ทริสเรทติ้งสามารถมีบทบาทในฐานะเป็นตัวกลางในการให้ความเห็นหรือเป็น verifier เกี่ยวกับแผนงานเพื่อสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ขององค์กรต่างๆ ตามเกณฑ์การวัดที่เป็นที่ยอมรับระดับสากลได้
คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญของบริษัทและกลุ่มบริษัทในเครือ โดย CPF ตั้งเป้าหมายจะบรรลุ Net Zero ภายในปี 2593 แต่ยอมรับว่าการดำเนินการจริงค่อนข้างท้าทาย เพราะธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต (สินค้าเกษตร) ซึ่งควบคุมได้ยาก
อย่างไรก็ตาม CPF ดำเนินการผ่าน 2 เรื่อง คือ 1. การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุน เวียน และ 2. การแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยปีที่ผ่านมา CPF สามารถบรรลุเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินได้ 100% ในทุกโรงงานที่ไทยและเวียดนามได้แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นท้าทายสำหรับบริษัทฯ คือ ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ ซึ่งมีมากกว่า 6,000 ราย สิ่งที่ยากคือ ทำอย่างไรจึงจะจูงใจผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานให้มาทำเรื่องความยั่งยืน สำหรับ CPF มีส่วนสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนของพาร์ทเนอร์ธุรกิจ เช่น การจ่ายเงินคู่ค้ารายย่อยให้เร็วขึ้นในช่วงโควิด-19 การเสนอวงเงินช่วยเหลือผ่านการใช้ข้อมูลใบแจ้งหนี้ (Invoice) ซึ่งเป็นการทำร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และการเสนอวงเงินและการให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนทำโปรเจกต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อจูงใจคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานให้มาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
อีกส่วนหนึ่งซึ่งก็ท้าทายไม่แพ้กัน คือ เกษตรกร ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดกว่า 2 ล้านไร่ที่ CPF รับซื้อ หรือกว่า 40% ของตลาด CPF ให้การสนับสนุนความยั่งยืนผ่านการนำเทคโนโลยีเข้าไปให้ความรู้เกษตรกร การรับซื้อข้าวโพดในราคาตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่ก็มีข้อแม้บางอย่าง เช่น การไม่รับซื้อข้าวโพดที่ปลูกบนพื้นที่ภูเขา และไม่รับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ที่มีการเผา โดยสุ่มตรวจและแบนรอบซื้อ เป็นต้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank กล่าวว่า EXIM Bank มีแนวคิดสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการทำลาย “มายาคติ” ซึ่งในที่นี้คือ GDP
- G – Growth ที่เน้นแต่การเติบโตสูง
- D – Double Profit กำไรเติบโตเท่าตัวหรือไม่ และนำมาซึ่ง P -Prosperity
- P -Prosperity พยายามรักษากลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งสูงเพื่อรักษาผลกำไรต่อองค์กร
GDP มายาคติเหล่านี้นำมาซึ่งผลเสีย ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ความยากจน ความแร้นแค้น ความอดอยาก และความไม่เท่าเทียม ดังนั้น GDP แบบเดิมๆ ที่ต้องเร่งโต นำมาซึ่งภาพอนาคตที่หดหู่ ไม่มีภาพที่คนตัวใหญ่ดูแลคนตัวเล็ก หากมีความคิดลักษณะนี้ เราจะขับเคลื่อนประเทศไม่ได้ ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ต้องทำหน้าที่เป็น “ตัวกระตุ้น” (Catalyst) สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนจากคำว่า “อวดรวย” เป็น “อวดดี” เพราะธุรกิจที่เติบโตมากที่สุดในช่วง 10 ปีนี้ คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ESG
สำหรับ EXIM Bank ก่อนหน้านี้ได้ออก Green Bond ไปแล้ว 2 ชุด มูลค่ารวมกว่า 8,500 ล้านบาท นักลงทุนให้การตอบรับดีมาก มีการจองซื้อเข้ามาเกินจำนวนกว่า 2.5 เท่า และจองซื้อหมดภายใน 30 นาที แม้ว่า EXIM Bank จะเป็นธนาคารเล็กๆ แต่ก็ประกาศจุดยืนว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า 50% ของพอร์ตสินเชื่อของธนาคารฯ ทั้งหมดกว่า 2 แสนล้านบาท จะต้องเป็นพอร์ตสีเขียว (Green Portfolio) และในระยะยาว ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573
นอกจากนี้ EXIM Bank เริ่มขยับไปให้บริการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มากขึ้น เพราะพบว่า SMEs กว่า 3.17 ล้านราย มีไม่ถึง 8 แสนราย ที่เข้าแหล่งเงินทุนที่ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา และถูกราคา ซึ่งอีกกว่า 2 ล้านชีวิตกลับต้องไปกู้ยืมสินเชื่อที่ต้นทุนสูง ดังนั้น EXIM Bank จึงออกโปรแกรมสินเชื่อต่างๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs เป็น Transition Bond วงเงินสูงสุดกว่า 200 ล้านบาท รวมถึงการเป็นผู้นำการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของไทย ให้เติบโตในเวทีโลก สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน ส่งเสริมความหลากหลาย เท่าเทียม และสร้างคุณค่าสู่สังคมที่ยั่งยืน พัฒนาศักยภาพและช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 24,000 ราย วงเงินรวมกว่า 91.2 ล้านบาท พร้อมทำหน้าที่เป็น Miracle Maker จากภายในสู่ภายนอก ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน สร้างความยั่งยืนในทุกระดับ