มูลนิธิอาเซียนและมูลนิธิเมย์แบงก์ให้การต้อนรับอาสาสมัครเยาวชน กว่า 120 คน และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) และกิจการเพื่อสังคม (SEs) ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วภูมิภาคจำนวน 10 คน ในพิธีเปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพระดับภูมิภาคของโครงการ eMpowering Youths Across ASEAN (EYAA): Cohort 3 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันอาเซียน ในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่จะมาถึงนี้
ก่อนเริ่มโครงการชุมชนใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ อาสาสมัครเยาวชนจะต้องเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพระดับภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 24 – 27 กรกฎาคม 2566 โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้จะทำหน้าที่เป็นช่องทางสำหรับอาสาสมัครเยาวชนและองค์กรภาคประชาสังคมในการฝึกอบรมการจัดการโครงการอย่างครอบคลุมและเพื่อสรุปข้อเสนอโครงการ
โครงการชุมชนที่ดำเนินการโดยอาสาสมัครเยาวชนและภาคประชาสังคมร่วมกันจัดการกับปัญหาในประเด็นต่าง ๆ อันได้แก่ ศิลปะและวัฒนธรรม การเสริมสร้างพลังชุมชน การศึกษา และความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อมใน 5 ประเทศ เช่น ในอินโดนีเซียมีโครงการริเริ่มต่างๆ อาทิ Thrive Together, Tenun. In Belu และ BerDAYA ซึ่งโครงการเหล่านี้อุทิศเพื่อบ่มเพาะการพัฒนาส่วนบุคคล เพิ่มศักยภาพให้กับช่างฝีมือท้องถิ่น และส่งเสริมทักษะความเป็นผู้นำ ความคิดริเริ่มเหล่านี้มุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญโดยการให้อำนาจแก่ปัจเจกบุคคลเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม และหล่อเลี้ยงผู้นำในอนาคตที่สามารถเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกภายในชุมชนของตนเองได้
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า “โครงการ EYAA: Cohort 3 สะท้อนถึงการร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างมูลนิธิอาเซียนและมูลนิธิเมย์แบงก์ เพื่อปลดล็อกศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดของเยาวชนและชุมชนอาเซียน โดยโครงการดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และเสริมศักยภาพให้กับอาสาสมัครรุ่นเยาว์ในการดำเนินโครงการเพื่อชุมชน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้คนในทั่วทั้งภูมิภาคกำลังเผชิญ”
ชาห์ริล อาซูอาร์ จิมิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของเมย์แบงก์ กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับการเสริมศักยภาพให้แก่เยาวชนอาเซียนและส่งเสริมการเปลี่ยน แปลงเชิงบวกในภูมิภาคว่า “ที่เมย์แบงก์ พวกเราทุ่มเทให้กับการเพิ่มขีดความสามารถให้กับเยาวชนและส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก โดยความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียนในโครงการนี้ เรามุ่งมั่นเสริมสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้เยาวชนอันเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงสามารถใช้ศักยภาพของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนในชุมชนของตนเอง พร้อมกันนี้เรายังมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสแห่งอนาคตที่ดีขึ้นให้กับภูมิภาคอาเซียน ด้วยการส่งเสริมแรงบันดาลใจในการริเริ่มและวิสัยทัศน์ในการพัฒนานวัตกรรมให้กับเยาวชนของเรา”
โครงการ EYAA ได้รับการออกแบบมาสำหรับเยาวชนอายุระหว่าง 19 – 35 ปี คัดเลือกจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยนำเสนอแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใครผ่านการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม กลุ่มนักเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ที่มีหลากหลายจะมีโอกาสพิเศษในการทำให้ความคิดของตนเองกลายเป็นจริงและดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนที่กำหนดไว้
สำหรับโครงการในครั้งที่ 3 นี้ โปรแกรม EYAA ได้มอบโอกาสและประโยชน์มากมายให้กับผู้เข้าร่วม โดยอาสาสมัครเยาวชนของแต่ละกลุ่มและองค์กรภาคประชาสังคมในโครงการ จะมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนสูงสุดถึง 900,000 บาท (27,000 เหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการชุมชนต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้โอกาสสร้างเครือข่ายที่กว้างขวางในระดับภูมิภาคของตน สร้างความสัมพันธ์กับบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับเป็นการเปิดประตูสู่ความร่วมมือและเสริมสร้างการเป็นพันธมิตรในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น โครงการยังได้รับการเผยแพร่ไปทั่วอาเซียนโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั่วภูมิภาค ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับการมองเห็นและการยอมรับสำหรับการมีส่วนร่วมของพวกเขา
ความสำเร็จและผลลัพธ์ของโครงการ EYAA
นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2561 โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการเพิ่มศักยภาพให้กับอาสาสมัครเยาวชนกว่า 175 คน และส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมและกิจการเพื่อสังคมถึง 20 แห่ง ซึ่งส่งผลในเชิงบวกโดยตรงต่อสมาชิกในชุมชนกว่า 38,933 คนทั่วอาเซียน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้เข้าถึงผู้คนอีกกว่า 851,910 คน นอกเหนือจากที่กล่าวมา ผ่านกิจกรรมออนไลน์ที่หลากหลาย
งานพิธีเปิดโครงการ EYAA: Cohort 3 เริ่มต้นด้วยการตีฆ้องและมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงการที่สำคัญจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้แก่ รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี รมช.กระทรวงการต่างประเทศ, ฯพณฯ ท่านเอกอัคร ราชทูต เจย์ซีลีน เอ็ม. ควินทานา ผู้แทนถาวรของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำอาเซียน, นายตัน ศรี ดาโต๊ะ ศรี ซัมซัมไซรานี ประธานกลุ่มบริษัทเมย์แบงก์และประธานมูลนิธิเมย์แบงก์, ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม, ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), นายชาห์ริล อาซูอาร์ จิมิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน และ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม กรรมการบริหารมูลนิธิ ทั้งนี้ ฯพณฯ ท่านเอกภาพ พันธุวงศ์ รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านทางวีดีโอก่อนเริ่มการตีฆ้องเปิดงาน
นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ เข้าร่วมงานพิธีเปิดในครั้งนี้ พร้อมด้วยศาสตราจารย์สุทธิพันธุ์จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ที่ปรึกษาศูนย์อาเซียนศึกษา รวมถึงผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน และสื่อมวลชน