โดยทั่วไปการเลือกตั้งส่วนใหญ่มักจะนำไปสู่บรรยากาศของความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างหนีไม่พ้น เนื่องจากนโยบายการเงิน และกฎระเบียบต่าง ๆ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวคิดหรือนโยบายของพรรคการเมืองที่จะมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราภาษี ทั้งภาษีส่วนบุคคลและนิติบุคคลอย่างชัดเจน รวมทั้งกระทบต่อนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ
ตัวอย่างจากผลการศึกษา[1]โดย ศาสตราจารย์ เคนส์-รอน จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และ นางสาวปาร์ค จี-กวาง ในปี พ.ศ. 2557 พบว่า การซื้อขายที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาลดลง เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายอันเกิดจากการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ดี ความผันผวนจะมีความยืดเยื้อต่อไปนานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มข้นในการแข่งขัน และความหลากหลายของนโยบายของแต่ละพรรคที่ร่วมลงสมัครนั่นเอง
ดร.ลี ไนเจีย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ของหน่วยธุรกิจดาต้า แอนด์ ซอฟต์แวร์ โซลูชั่น (DSS) ของพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มของการซื้อบ้านของผู้บริโภคไทยในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมานี้ว่า “เราสังเกตเห็นแนวโน้มที่คล้ายคลึงกันในเมืองไทยในช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลังจากที่เราได้คำนวณตัวเลขดัชนี ซึ่งคิดจากยอดผู้เข้าชมประกาศบนเว็บไซต์ DDproperty.com เป็นรายวัน โดยใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ในช่วง 30 วันเป็นตัวควบคุมข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันของช่วงเวลาดังกล่าว และนับวันเริ่มต้น (Base Date) จากวันที่ 1 มกราคม 2565 อย่างไรก็ดี ภายหลังการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 กลับเห็นสัญญาณของยอดเข้าชมประกาศบนเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับที่ทรงตัวในเวลาต่อมา
จากฐานข้อมูลของ ดาต้าเซนส์ โดยพร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนส (DataSense by PropertyGuru for Business) พบว่ายอดเข้าชมที่อยู่อาศัยแนวราบมีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัวกว่าอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่น โดยค่อย ๆ ลดลงเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง และกลับมามีแนวโน้มการเข้าชมที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566
ดูเหมือนว่าผู้ที่กำลังหาบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่มีกำลังซื้อสูงหรือคิดจะลงทุนในตลาดบน จะเลือก ‘รอดูสถานการณ์’ ในช่วงเลือกตั้ง มากกว่าที่จะตัดสินใจซื้อหรือลงทุนทันที เนื่องจากต้องการดูความชัดเจนของทิศทางนโยบายของรัฐบาลใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ยิ่งทำให้ผู้ซื้อเพิ่มความระมัดระวังในการตัดสินใจมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการซื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด” ดร.ลี กล่าว
ภาพที่ 1: ดัชนียอดเข้าชมประกาศที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งทั่วไป
แหล่งที่มา: DataSense by PropertyGuru for Business
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าแนวโน้มดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ถึงแม้ว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะกระเตื้องขึ้นเป็นอย่างดีในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ก็ตาม
ภาพที่ 2: ดัชนียอดเข้าชมประกาศที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม และอะพาร์ตเมนต์) ในกัวลาลัมเปอร์ ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งทั่วไป
แหล่งที่มา: DataSense by PropertyGuru for Business
หลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ความสนใจในอสังหาริมทรัพย์ได้กลับมาอีกครั้ง โดยมีหลักฐานชี้ชัดว่าดัชนียอดเข้าชมประกาศที่อยู่อาศัยของไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าสู่ระดับสมดุลใหม่ ซึ่งการฟื้นตัวของดีมานด์ในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้บริโภคที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากการซื้ออสังหาฯ นั้นถือเป็นการลงทุนระยะยาวกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น
“อย่างไรก็ดี เรายังคงเห็นสัญญาณหลาย ๆ อย่างที่สะท้อนถึงดีมานด์ความสนใจในการค้นหาอสังหาฯ ที่ค่อนข้างลดลงจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการที่ลดลงนี้คาดว่าน่าจะมาจาก ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เรายังต้องรอลุ้นว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยจะเป็นใคร ทั้งนี้ เราคาดว่าตลาดอสังหาฯ จะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากผลการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ข้อสรุปออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหลังจากนั้นคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคจะกลับมาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดต่อไป” ดร.ลี กล่าวสรุป
[1] Canes-Wrone, B., & Park, J. (2014). Elections, Uncertainty and Irreversible Investment. British Journal of Political Science, 44(1), 83-106. doi:10.1017/S000712341200049X