ชื่อชั้นของ “แซม” ไพศาล อ่าวสถาพร ในแวดวงธุรกิจร้านอาหารถือเป็น “อ๋อง” ของวงการ ด้วยว่า เป็น “แม่ทัพ” ที่สามารถพลิกธุรกิจร้านอาหารในเครือ “บิสโตร เอเชีย” บริษัทในเครือไทยเบฟที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอด 7 ปีให้สามารถพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรได้ภายใน 7 เดือน ด้วยอัตราการเติบโตที่น่าทึ่งถึง 280% และที่ “อเมซิ่ง” มากกว่านั้น คือ การข้ามห้วยจาก “โออิชิ กรุ๊ป” บริษัทในเครือไทยเบฟเช่นกัน ซึ่งเป็นธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น และกระโจนมาทำร้านอาหารหลากแนวทั้งอาหารไทย จีนและตะวันตกที่ “บิสโตร เอเชีย” กลับเป็นการไฮไลท์ Inner ความเป็น “แซม” ต่อธุรกิจอาหารหลากแนวดังกล่าวทั้งในแง่ “ตัวตน” และ “ความถนัด” ที่เขามี อีกทั้ง Insight ที่แท้จริงของ “แซม” มีต่อธรรมชาติของตลาด ธรรมชาติของร้านอาหารแต่ละรูปแบบที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ตั้งแต่ Premium Fine Dining จนถึงร้านอาหารฟู้ดคอร์ท รวมทั้งพฤติกรรมลูกค้า จนถึงการออกแบบสินค้า เมนูอาหารและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ อาณาจักรธุรกิจร้านอาหารของ “บิสโตร เอเชีย” ประกอบด้วย บ้านสุริยาศัย (Baan Suriyasai) ร้านอาหารไทย Premium Fine Dining ไฮด์ แอนด์ ซีค แอทธินี (Hyde & Seek Athenee) หม่าน ฟู่ หยวน (Man Fu Yuan) โซ อาเซียน (SO asean Café & Restaurant) สโมสรราชพฤกษ์ (Rajpruek Club) ศูนย์อาหาร ฟู้ด สตรีท (Food Street) รวมทั้งบริการจัดเลี้ยง
“แซม” ไพศาล อ่าวสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหาร และมองทิศทางนับจากนี้อย่างไร นี่คือมุมมองที่เขาแบ่งปันในฐานะ “แม่ทัพ” และในฐานะ “นายสถานีพลังบวก” ที่ทำหน้าที่จ่าย “พลังบวก” ให้กับผู้คนรอบข้าง ธุรกิจร้านอาหาร เมนูและสรรพสิ่ง
ธุรกิจร้านอาหารในเครือ “บิสโตรเอเชีย” มีตำแหน่งทางการตลาด (Market Positioning) ที่แตกต่างกันอย่างไร
ธุรกิจร้านอาหารในพอร์ตโฟสิโอของ “บิสโตร เอเชีย” มีหลายเซ็กเม้นท์ครอบคลุมทุกระดับของตลาด (Market Range) นับแต่ “บ้านสุริยาศัย” ร้านอาหารสูตรชาววัง คฤหาสน์ทรงวิคตอเรียผสมโคโลเนียลอายุกว่า 100 ปีของตระกูล “บุนนาค” ซึ่งเปิดให้บริการมา 4 ปีแล้ว หลังจากที่ทางบริษัทฯ ได้ปรับปรุงบ้าน ร้านนี้เป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารไทยที่เป็น Premium Fine Dining เป็นร้านที่ได้รับการแนะนำจาก มิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ก็มี SO asean ร้านอาหารไทยและอาหารอาเซียน เป็นแบรนด์ที่ทำให้เราสามารถขยายเชิงธุรกิจเป็นร้านอาหารไทยและอาเซียน เจาะพื้นที่อาคารสำนักงานและศูนย์การค้า ด้วยจุดขายของการเสิร์ฟอาหารจานเดียว อาหารทานง่ายๆ เหมาะสำหรับคนทั่วไป กับเสิร์ฟอาหารจานหลักต่างๆ ของอาเซียนระดับไฮไลท์ เช่น ข้าวมันไก่สิงคโปร์ ฉ่าก๋วยเตี๋ยวของมาเลเซีย และอาหารแต่ละประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
ขณะเดียวกัน เรายังมีร้านอาหารจีนกวางตุ้งชื่อ Man Fu Yuan โดยต้นกำเนิดมาจากร้านที่อยู่ในโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ประเทศสิงคโปร์ และเป็นร้านที่ได้รับการแนะนำจาก มิชลิน ไกด์ สิงคโปร์ โดยมีที่มจากการที่กลุ่มไทยเบฟเข้าซื้อกิจการของโรงแรมแห่งนี้และทำให้ได้ร้านอาหารนี้ไว้ด้วย และ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ซีอีโอ ไทยเบฟ มีดำริที่จะนำแบรนด์ร้านนี้มาเปิดที่สโมสรราชพฤกษ์เป็นสาขาแรกในประเทศไทย และต่อมาได้ขยายสาขาที่ 2 ที่ QSNCC ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ.ได้เปิด Second Tier ชื่อ Man Fu Yuan Kitchen ซึ่งขายในราคาย่อมเยาลงมา เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย และเหมาะกับการขยายสาขา ซึ่งต่อมาได้เปิดสาขาเพิ่มที่สามย่านมิตรทาวน์ เอ็มควอเทียร์
ส่วนแบรนด์ถัดไป คือ ธุรกิจร้านอาหารฝรั่ง 2 แบรนด์ นั่นคือ Hyde & Seek ร้านอาหาร Gastro Bar ที่เน้นแนว “กิน-ดื่ม” เหมาะสำหรับการมา “แฮงค์เอ๊าท์” เดิมร้านนี้อยู่ที่ซอยร่วมฤดี และปัจจุบันได้ย้ายมาอยู่อาคารแอทธินีทาวเวอร์ และเปิดสาขาอีกแห่งที่ชั้น 9 สีลม เอดจ์ (Silom Edge) ที่มองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของสวนลุมพินีได้อย่างตื่นตาตื่นใจ เพราะอยู่บน Rooftop ของอาคาร
นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ร้านอาหารฝรั่งใหม่ล่าสุด คือ Vantage Point ที่ชั้น 2 QSNCC ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นร้านที่มีขนาดใหญ่และสามารถจุได้ถึง 300 คน มีห้องประชุม 4 ห้อง ห้องละ 10 ท่าน ที่สำคัญทั้ง 4 ห้องนี้สามารถเปิดทะลุกันได้หมด เพื่อให้เป็นห้องประชุมใหญ่ได้ Vantage Point ถือเป็นร้านที่มีทำเลในตำแหน่งดีที่สุดของกรุงเทพฯ และด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ เนื่องจากเป็นจุดของ “วิวหลักล้าน” ที่มองเห็นทัศนียภาพของสวนเบญจกิติทั้งสวน และกรุงเทพฯ ทั้งเมือง ที่สำคัญ ที่นี่เป็นที่เดียวใจกลางกรุงเทพฯที่สามารถเห็นวิวแบบนี้
Vantage Point เป็นร้านอาหารที่เป็นศูนย์รวมของอาหารยุโรปจริงๆ เพื่อรองรับนักเดินทางจากทั่วโลกที่มาร่วมงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เนื่องจากมีช่องว่างในตลาดที่เราพบว่า ร้านอาหารยุโรปจริงๆ มีน้อยมาก ดังนั้น แนวคิดของแบรนด์นี้จึงเป็นร้านอาหารแนวใหม่ที่ยกตลาดยุโรปทั้งตลาดมาใส่อยู่ในร้านนี้ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ยังไม่เคยเปิดในเมืองไทย โดยได้แนวคิดจาก Mercato Centrale ภาษาอิตาเลี่ยนหมายถึงตลาดกลาง (Mercato = Market, Centrale = Central) ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนยุโรป มีลักษณะเหมือนตลาดนัด ฟู้ดคอร์ทบ้านเรา และในช่วงเปิดตัว ผมก็เลยเปิดเป็นยูโรเปียนบุฟเฟ่ต์ขึ้นมาในหัวละ 998++ เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ และช่วงเย็นเท่านั้น โดยสามารถทานได้ทั้ง A La Carte หรือบุฟเฟ่ต์ก็ได้ ซึ่งราคานี้ถือว่าคุ้มมาก เพราะว่าเวลาปกติทานอาหารฝรั่ง 1 จานราคา 500-600 บาทแล้ว ทานตั้งแต่ 2 จานขึ้นไปก็คุ้มแล้ว บวกกับเรามีเครื่องดื่ม Mocktail เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และเสิร์ฟแบบไม่อั้นด้วย เพราะฉะนั้นรวมถึงคนที่อยากจะมากินดื่มไม่อั้นในราคาแบบสบายกระเป๋าก็ที่นี่เลย
ส่วนอีกเซ็กเม้นท์ คือ ยังมีธุรกิจฟู้ดคอร์ทในนาม Food Street ซึ่งเปิดให้บริการตามอาคารสำนักงานของเราเอง เนื่องจากเดิมเราต้องการรองรับพนักงานในตึกนั้นๆ โดยมีสาขาที่ตึกไทยเบฟควอเตอร์, ตึก CW Tower และปัจจุบันขยายเพิ่มอีกแห่งที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ QSNCC ซึ่ง QSNCC ก็จะเป็นรูปแบบใหม่ด้วย เนื่องจากร้านค้าใน Food Street เราไม่ได้กำหนดรูปแบบตายตัวแบบฟู้ดคอร์ท แต่ปล่อยตามสไคล์ของร้านค้า คล้ายๆ กับร้านต่างๆ มารวมๆ กัน แค่เราบวกกับเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไปเป็นร้านแรกร้านเดียวในประเทศไทยที่มีการใช้ระบบการชำระเงิน (Payment) ทุกแพลตฟอร์มในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะจ่ายด้วยเงินสด บัตรเครดิต สแกนจ่าย หรือใช้ AliPay, WeChat เพื่อรองรับคนที่เดินทางาจากต่างประเทศ เพื่อร่วมงานประชุมที่ QSNCC ขณะเดียวกัน ระบบการชำระด้วยคูปองก็ยังคงมีเช่นเดิม นอกจากนี้ ก็จะมี “ตู้คีออส” เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าไปกดหาร้านอาหาร เมนูอาหาร พร้อมแสดงราคา และสามารถสั่งและชำระเงินจากตู้คีออสได้ โดยไม่ต้องเดินไปที่ร้าน ซึ่งเพิ่มความสะดวกสบาย และพิสูจร์มาแล้วว่า การใช้เทคโนโลยีเช่นนี้ทำให้เราสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้สูงสุดมากกว่า 3 เท่า เนื่องจากทำให้สะดวก ประหยัดเวลาทั้งร้านค้าและลูกค้า
จาก Passion กับธุรกิจอาหารเกินร้อย ตั้งเป้าว่าจะ “ปั้นแบรนด์” ที่มี “ในมือ” ไว้อย่างไร
นั่นเป็นเพราะทำธุรกิจอาหารมา 40 ปี ประกอบกับมีความรักและชอบการทำอาหาร และจริงๆ รูปแบบอาหารก็ไม่ได้ต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไหน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีอย่างเดียว นั่นคือเราต้องเข้าใจตัวธุรกิจ ทั้งนี้ เป้าหมายของเราก็เดินตามเป้าหมายของบริษัทแม่นั่นคือ Passion 2025 ซึ่งปัจจุบันก็ใกล้ปี 2025 แล้ว และปัจจุบันเรากำลังทำวิสัยทัศน์ใหม่ในปี 2030
ทั้งนี้ เป้าหมายที่เราจะเดินตาม Passion 2025 ของกลุ่มไทยเบฟ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ นั่นคือ
- Build เพื่อสร้างธุรกิจขึ้นมาแล้วก็ขยายธุรกิจ เพื่อสร้างการเจริญเติบโต
- Strengthen การสร้างความแข็งแกร่งให้แต่ละธุรกิจ หรือแต่ละแบรนด์ของพอร์ตฯ และสามารถแข่งขันได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ฉะนั้น Martech จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาทำให้ธุรกิจเราเสริมแกร่ง
- Unlock การปลดล็อกปัญหา อุปสรรคต่างๆ อาทิ ความสามารถของบุคลากร เทคโนโลยี งบประมาณ กระบวนการทำงานฯลฯ
กลยุทธ์สำหรับการเติบโต (Build) คือ
“เราทำสิ่งที่เราอยากทำและทำได้ดี
แล้วก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ อยากซื้อ”
สำหรับ “บิสโตร เอเชีย” เราตั้งเป้าที่จะนำ 3 ปัจจัยนี้มาวางเป็นยุทธศาสตร์ เนื่องจากธุรกิจในพอร์ตของบริษัทฯ เป็นธุรกิจที่ใหม่ทั้งหมด และเป็นธุรกิจที่เราริเริ่มเองทั้งหมด ไม่ได้ซื้อแฟรนไชส์ อีกทั้งไม่มีต้นแบบโมเดลธุรกิจมาจากประเทศไหนเลย
สำหรับกลยุทธ์ภายใต้ Passion 2025 ของเรานั้น เมื่อมองที่ Passion 2025 ก่อนอื่นต้องบอกว่า การที่เราจะสร้างการเติบโตได้นั้น เราจะต้องสร้างทุกๆ แบรนด์ของเราให้มีความแข็งแรงและเป็นที่รู้จักก่อน ขั้นตอนต่อไปจึงเป็น “การขยาย” แต่ก่อนที่จะขยาย เราต้องมาดูว่า เราเข้าใจตัวธุรกิจของเราหรือยัง เพราะแต่ละธุรกิจที่พอร์ตของผมถืออยู่ 7 แบรนด์มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ตัวของธุรกิจเอง ประเภทที่แตกต่างกัน กลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน แล้วก็ราคาที่ลูกค้ายอมรับได้ (Price Point) แตกต่างกัน ซึ่งการทำความเข้าใจธุรกิจนั้น เราจะต้องเข้าใจว่าธุรกิจเราขายอะไร แล้วคนซื้ออยากซื้อหรือไม่ เป็นมุมมองแบบ Outside-in เพราะถ้าลูกค้าไม่ต้องการ หากเราทำเพราะเราอยากทำก็ย่อมจะไม่เกิดประโยชน์
ฉะนั้น การวางหมากกลยุทธ์ของ ”บิสโตร เอเชีย”จึงพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
1) สิ่งที่เราอยากทำและทำได้ดี ลูกค้าอยากได้ อยากซื้อ
2) ใช้ลูกค้าเป็น “ตัวตั้งต้น” ทั้งในแง่ความต้องการ และโครงสร้างราคา โดยพิจารณาว่า ลูกค้าอยากซื้อสินค้าของเราหรือไม่ ถ้าอยากซื้อเราในฐานะแบรนด์ซื้อเท่าไร และเรามีกำไรหรือไม่ ระดับราคาใดที่คิดว่าลูกค้าจะซื้อ (Price Point) และระดับราคาใดที่ลูกค้าคิดว่าคุ้มค่ามากที่สุด
ในการทำธุรกิจ ต้อง
1) สร้างแบรนด์
2) หาโมเดลธุรกิจให้ถูกต้อง “ถูกประเภท ถูกคน ถูกที่”
3) ขยายธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
ในการทำธุรกิจ อันดับหนึ่ง คือ การทำแบรนด์ อันดับสอง คือ หาโมเดลธุรกิจให้ถูกต้องก่อน” ถูกประเภท ถูกคน ถูกที่” ของธุรกิจนั้นๆ เมื่อธุรกิจเริ่มลงตัวแล้วก็จะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้ อันดับสาม คือ เมื่อต้องการขยายธุรกิจจะขยายแบบใดเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ขยายภายในประเทศ ขยายในต่างประเทศ หรือถ้าไม่ขยายสาขา เราจะขยายธุรกิจในแนวกว้าง (Horizontal Diversification) ทางด้านช่องทาง เช่น จากโมเดลธุรกิจที่ทำเฉพาะนั่รับประทานในร้าน ( Dine-in) เราจะขยับมาทำธุรกิจเดลิเวอรี่ หรือคาเตอริ่งได้หรือไม่ หรือเราจะสามารถเพิ่มไลน์สินค้า (Product Line Extension) ได้หรือไม่ อาทิ “บ้านสุริยาศัย” ที่ไม่ได้ขายเฉพาะอาหารอย่างเดียว แต่ยังขายสินค้า/บริการอื่นๆ ด้วย อาทิ รับจัดช่อดอกไม้แบบบูเก้ การทำของขวัญของกำนัลด้วยอาหารไทย ขนม ปิ่นโตชุดภัตตาหารถวายพระ ชุดน้ำอบที่สวยงามแบบไทยๆ ในช่วงสงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งเป็น มุมมองทางธุรกิจที่เราปลดล็อก (Unlock) ตัวเองจากกรอบคิดเดิมๆ ของธุรกิจร้านอาหารด้วยการส่งมอบคุณค่า และความรักผ่านอาหาร ขนม หรือช่อดอกไม้ ฯลฯ
MarTech ถือเป็นหนึ่งในการปลดล็อกของ “บิสโตร เอเชีย” หรือไม่
MarTech ก็ช่วยได้เยอะ จากที่พูดถึง Food Street การใช้ MarTech ทำให้เราสามารถเพิ่มรอบเพื่อรองรับลูกค้าได้สูงสุดมากกว่า 3 เท่านั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ด้วยรูปธรรม และ MarTech จะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่เราจะใช้เป็นเครื่องมือ พร้อมทั้งพัฒนาต่อไป อีกทั้งจะเป็นต้นแบบที่เราจะไปทำที่ One Bangkok ด้วย เนื่องจากจะมีแบรนด์ร้านอาหารในพอร์ตฯ บิสโตร เอเชียที่มีประมาณ 5 แบรนด์ที่จะไปอยู่ที่นั่น ได้แก่ SO aseanร้านอาหารไทยและอาเซี่ยน, Hyde & Seek ร้านอาหาร Gastro Bar, Food Street ร้านอาหารแนวฟู้ดคอร์ท, Man Fu Yuan ร้านอาหารจีนกวางตุ้ง และแบรนด์ใหม่อีกแบรนด์ที่กำลังจะเปิดตัวด้วยคอนเซ็ปท์ใหม่ และเป็นโปรเจคที่ใหญ่มากในขณะนี้ มี และกล้าพูดได้ว่า นี่คือโปรเจคที่ยังไม่มีใครทำใหญ่กว่านี้ในประเทศไทย
ให้นิยาม “พลังแซม” กับการนำทัพ “บิสโตร เอเชีย” สู่เป้าหมายอย่างไร
“พลังแซม” ที่มีในตัวนั้น ต้องบอกว่า ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีๆ และอยู่กับพลังงานที่ดีๆ ตั้งแต่พ่อแม่ ครอบครัว ครูบาอาจารย์ เจ้านาย ลูกค้า เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เราพลอยได้รับพลังงานแบบนั้น และทำให้เราสามารถถ่ายทอดพลังงานที่ดีออกไปถึงผู้คนรอบข้างตัวเราได้เช่นกัน และเมื่อเราได้เรียนรู้และได้รับอะไรที่ดีๆ เราก็อยากมอบให้คนอื่นด้วย แต่อะไรที่ไม่ดีและเราไม่ชอบ เราก็ไม่ทำกับคนอื่น เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงตั้งต้นจากสิ่งแวดล้อมที่เราเคยได้รับ เพียงแต่เราต้องแยกแยะให้ออกว่า อันไหนที่ดีเราก็ส่งมอบต่อ ขณะที่คนส่วนใหญ่อะไรที่ไม่ดี – ไม่ชอบก็ยังจะไปทำแบบนั้นกับคนอื่นๆ มันก็เลยกลายเป็น “พลังลบ” ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่ดี คนรอบข้างก็ไม่ดีตามไปด้วย แล้วผลสุดท้ายก็จะไปกระทบกับงาน
การที่ทำให้ลูกค้าหนึ่งคนไว้ใจเรา รักเราเป็นเรื่องยาก
แต่ถ้าเขาไว้ใจเราแล้วก็จะ “รักเรา – รักนาน”
ถ้าจะให้ผมนิยามว่า “พลังแซม” คืออะไร คงต้องบอกว่า ผมจะสะสม “พลังแซม” ได้อย่างไรดีกว่า
หนึ่ง – ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งแรกเลยต้องมี “จริยธรรม” และ “คุณธรรม” ตั้งต้นก่อน เมื่อเราตั้งต้นด้วยคุณธรรมที่ดี จิตใจเราจะดี ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็จะทำให้เรารังสรรค์ผลงานที่ดีได้ด้วย อีกทั้งมีพลังงานที่ดีตลอดเวลา อย่างเราอยู่ในธุรกิจอาหาร เราก็ต้องมีจริยธรรมที่ดีในการประกอบวิชาชีพ ไม่หลอกลวงผู้บริโภค ต้องให้สิ่งที่ดีกับผู้บริโภค เราให้กับคนที่เรารักอย่างไร เราก็ต้องให้กับลูกค้าแบบนั้น เพราะการที่ทำให้ลูกค้าหนึ่งคนไว้ใจเรา รักเราเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเขาไว้ใจเราแล้วก็จะรักเรา รักนาน
เรามักจะพูดแต่คำว่า “ขอโทษ” จนติดปาก
แต่ลืมพูดคำว่า “ขอบคุณ” ขอบคุณทุกสิ่งอย่าง
แม้แต่สิ่งที่ไม่ดี เราก็ต้องขอบคุณ เพราะมันได้สอนเรา
สอง – เราต้องอย่าไปอยู่ในที่ๆ มี “พลังลบ” เพราะการที่เราไปอยู่ในพลังลบตลอดเวลา เราจะได้รับแต่พลังลบ สุดท้ายแล้วก็จะซึมซับและถ่ายทอดพลังลบโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น ถ้าเรารู้สึกว่า ตรงนี้เราไม่ชอบและอึดอัด เราก็เอาตัวเราออกจากตรงนั้นให้ได้ ออกให้เร็วให้ไวมากที่สุด จะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ นั่นจะทำให้ชีวิตเรามีความสุข ทั้งสุขกับการทำงาน สุขกับสิ่งที่เราทำ และเราต้อง “ขอบคุณ” ทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิต ผมว่าอันนี้สำคัญ เพราะเรามักจะพูดแต่คำว่า “ขอโทษ” จนติดปาก แต่ลืมไปว่าเราควรจะพูดคำว่า “ขอบคุณ” เพื่อขอบคุณทุกสิ่งอย่าง แม้แต่สิ่งที่ไม่ดีเราก็ขอบคุณ เพราะมันได้สอนเรา
ฉะนั้น พูดคำว่า “ขอบคุณ” ให้มากกว่าคำว่า “ขอโทษ” แล้วมันจะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น พอเรามีความสุข มีทัศนคติที่ดี ไม่ว่าเราจะธุรกิจอะไร หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ก็จะทำให้ผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น
“พลังบวก” ที่มีเหลือเฟือ แล้วมีอะไรที่ “หิน” เกิน “พลังแซม” หรือไม่
มีแน่นอน เราต้องเจออุปสรรค หรือความท้าทายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แต่ถ้าไม่เจอเลยก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ เพียงแต่ ทุกครั้งที่เผชิญอุปสรรคใดๆ ก็แล้วแต่เราต้องเผชิญหน้ากับมัน
เพราะในทางปฏิบัติ จะมีคนประเภทหนึ่งก็คือ “หยุดไม่ทำอะไรเลยแล้วปล่อยให้มันผ่านไปเอง” ซึ่งหากต้องใช้เวลานานเกินไป คุณก็จะติดกับดักและจมปลักอยู่ตรงนั้น ไม่เจริญเติบโต อีกประเภทหนึ่ง คือ “หนีปัญหา ไม่อยากยุ่งกับปัญหา” แต่ให้จำไว้ว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่หายไป ถ้าเราไม่สู้กับมัน
ยกตัวอย่างจากวิกฤติโควิดที่เพิ่งผ่านมา บางคนรับมือด้วยการหาวิธีแก้ และรับมือกับมัน บางคนบอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวมันก็ไป เหมือนฝนตก แต่ถ้าฝนเกิดไม่หยุดแล้วจะทำอย่างไร จะอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปข้างนอกเลยหรือ แล้วถ้าฝนตกเป็นปีเราต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นปีแล้วเราจะเอาอะไรกิน หรือบางคนบอกว่า โควิดมาย้ายหนีดีกว่า ย้ายไปประเทศอื่นก็ต้องเจออีก โควิดอยู่ทุกที่ คุณหนีไม่ได้
ปัญหาที่เรียกว่า “หิน” ที่สุดสำหรับทุกๆ ธุรกิจแล้วก็ทุกๆ เรื่อง คือ ปัญหาเรื่อง “คน” และเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็จะไม่ยากเกินไปถ้าเราเข้าถึงใจและมีการยืดหยุ่นผ่อนปรน อย่างการกำหนดนโยบายหลัก หรือกฎระเบียบหลักแม้จะเป็นสิ่งที่ดีเพื่อกำหนดให้ทุกคนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็อาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน ดังนั้น อาจจะต้องยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้ระดับหนึ่ง ให้เข้ากันกับเงื่อนไขของแต่ละคนได้ ต้องไม่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ควรต้องผสมผสานแบบศาสตร์จีนที่มีทั้ง “หยินและหยาง” เพื่อที่จะทำให้เกิดพลังงานที่ดีและสมดุล จึงจะเป็น “พลังชี่” ที่ดีที่สุด
เรื่อง จุฑาทิพ อิงวัฒนโภคา
ภาพ อนันต์ บุตรเวียงพันธ์