กลุ่มพูลผล นำโดย “น้ำมันพืชกุ๊กและวุ้นเส้นตราต้นสน” เผยแผนปี 66 มุ่ง “สร้างมูลค่าเพิ่ม–แกร่งจากภายใน– เดินหน้าสู่ความยั่งยืน” ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มาพร้อมสำนึก “รักษ์สุขภาพ-รักษ์โลก” ชี้ตลาดอุตสาหกรรมอาหารครึ่งปีหลังเป็น “ของจริง” มีตัวแปรอีกหลายปัจจัยรอพิสูจน์
อัพเดท “นวัตกรรม”
บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย “น้ำมันพืชกุ๊ก” และ บริษัท สิทธินันท์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายวุ้นเส้นตรา “ต้นสน” ต่างก็ได้เข้าร่วมงาน THAIFEX – ANUGA ASIA เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องรวมทั้งปี 2566 เพื่อเปิดพื้นที่โชว์เคส และอัพเดทความเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของทั้งสอง บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มพูลผลให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ คุณเพชร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัทธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ได้กล่าวถึงการอัพเดทผลิตภัณฑ์ใน “กลุ่มพูลผล” จากงานนี้ว่า
“กลุ่มพูลผลไม่ได้หวังยอดขายในงาน THAIFEX แต่คาดหวังให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้นจากงานนี้ว่า เราคือส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งหวังสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าทั้ง B2B และ B2C ทั้งนี้ สำหรับ “ธนากรฯ” เราเป็นผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังแปรรูประดับผู้นำตลาด ซึ่งเป็นการทำตลาดแบบ B2B และ เป็นหนึ่งในส่วนผสมของอุตสาหกรรมอาหาร และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแป้งมันสำปะหลังอย่างมาก อาทิน้ำสลัด น้ำสุกี้ เครื่องแกง น้ำจิ้มต่างๆ ฯลฯ และอุสาหกรรมอื่นๆ อาทิ เสื้อผ้า กระดาษ พลาสติกย่อยสลายได้ (ไบโอพลาสติก) ขณะเดียวกัน เราก็มีสินค้าสำเร็จรูปที่ทำตลาดแบบ B2C ทั้งน้ำมันพืชตรา “กุ๊ก” ที่ผลิตจากน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน และน้ำมันคาโนล่า รวมทั้งกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็น By Product ของการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและเป็นส่วนผสมหลักของอาหารสัตว์
ขณะที่บริษัท สิทธินันท์ ก็เช่นกันที่ทำตลาดทั้ง B2B และ B2C โดยผลิตวุ้นเส้นจากแป้งถั่วเขียว 100% และมีหลายสูตร ตราต้นสน, ต้นถั่ว, ต้นไผ่ อีกทั้งเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่ผลิตวุ้นเส้นไม่ฟอกสีที่มีคลอโรฟิลล์อยู่ และเป็นสีเขียวจากธรรมชาติ ทั้งนี้ วุ้นเส้นก็ถือเป็น Super Food อย่างหนึ่ง เช่นกัน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ไม่ดัดแปลงพันธุกรรม ปราศจากกลูเตน นอกจากนี้ ยังมีแป้งถั่ว แป้งถั่วเขียว แป้งมันสำปะหลังที่ทำตลาดแบบ B2C และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็น OEM ทำตลาดแบบ B2B ทั้งเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว”
จาก “ครัวโลก” สู่ “ความยั่งยืน”
คุณเพชรกล่าวถึงการดำเนินยุทธศาสตร์ของกลุ่มพูลผล จาก “ครัวโลก” สู่ “ความยั่งยืน” ว่า
“เนื่องจากยุทธศาสตร์ “ครัวโลก” ของประเทศไทยนั้นถือเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดแข็งที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมานานแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า อาหารไทยเป็นSoft Power ที่คนต่างชาติสามารถแยกแยะรสชาติอาหารไทยต้นตำรับหลายเมนูได้ด้วย เช่น แกงมัสมั่น, แกงเขียวหวาน ฯลฯ ที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเนื้อสุกร เนื้อไก่ที่มีคุณภาพ และผ่านมาตรฐานในระดับนานาชาติ สามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก อาทิ ยุโรป, ญี่ปุ่น, อเมริกา, จีน ฯลฯ อีกทั้งมีชัยภูมิที่ดีเหมาะกับการเป็นโลจิสติกส์ฮับ เพื่อส่งออกไปหลายๆ ประเทศอีกด้วย
สำหรับการเป็น “ครัวโลก” กลุ่มพูลผลไม่ว่าจะเป็น “ธนากรฯ” และ “สิทธินันท์” ก็ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทออกไปทั่วโลกทั้งยุโรป อเมริกา เกาหลี เอเชีย ออสเตรเลีย ฯลฯ และในส่วนของธนากรฯ ในปีนี้ก็จะมีการปรับพอร์ตการส่งออกให้มากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและประเทศที่ไม่มีน้ำมันถั่วเหลือง ขณะเดียวกัน
นอกจากการเป็น “ครัวโลก” แล้ว เรายังมุ่งยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืนด้วยโมเดลของเศรษฐกิจ BCG โดยล่าสุด วุ้นเส้นตราต้นสน เป็นวุ้นเส้นรายแรกและรายเดียวของโลกที่ทำ Carbon Footprint เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการควบคุมกระบวนการผลิตนับแต่แหล่งผลิตถั่ว การปล่อย CO2จากการปลูกถั่ว กระบวนการผลิต ฯลฯ ขณะที่น้ำมันพืชกุ๊ก “ธนากรฯ” ถือเป็นโรงงานเดียวที่ได้การรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็น “โรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5” ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานสูงสุด และการได้รับมาตรฐานดังกล่าวจะต้องไต่เป็นลำดับ จากระดับ Green 1, 2, 3, 4 จนถึง Green 5 โดยเกณฑ์การพิจารณาจะคำนึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโซ่อุปทานของธุรกิจอย่างแท้จริงซึ่งเราได้ใช้หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งการใช้กล่องกระดาษรีไซเคิลการใช้ขวดน้ำมันพืชที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งจะทำให้ลดการใช้พลาสติก ตลอดจนการนำขวดน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมา Upcycling เป็นเสื้อยูนิฟอร์ม การใช้ประโยชน์จากขี้เถ้าที่ได้มาจากเตา Boiler และใช้เปลือกถั่ว ก้านฝักถั่วในกระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ปัจจุบันของเสีย (Waste) จากโรงงานเกือบไม่มีแล้ว นอกจากนี้ ที่โรงงานน้ำมันพืชกุ๊กยังติดตั้งเครื่องวัดเขม่าควันจากปล่องควันของโรงงาน เพื่อชี้วัดการปล่อยของเสียอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ตัวอย่างจากการดำเนินงานดังกล่าวของ “ธนากรฯ” อย่างต่อเนื่องนาน 10 ปีทำให้สามารถลดได้ราว 50% ต่อการผลิตน้ำมันถั่วเหลือง 1 ครั้ง และยังโฟกัสกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร ลดความสูญเสีย ใช้พลังงานน้อยลง ปล่อยของเสียลดลง”
ต้องรอดูครึ่งหลังปีนี้ “ของจริง”
จากปัจจัยลบทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาจากภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น กำลังซื้อของตลาดถดถอย อีกทั้งหลังสถานการณ์วิกฤติโควิดคลี่คลาย ทั้งโลกกลับสู่ภาวะปกติเป็นสภาวะของ “ตลาดที่แท้จริง” (Real Demand) จากเดิมที่หลายๆ ประเทศ “ซื้อเผื่อ ซื้อตุน” ในช่วงโควิด เนื่องจากเกรงเกิดกรณีระบบโลจิสติกส์ล่มอย่างที่ผ่านมา และค่าเช่าตู้คอนเทนนเอร์แพง
ในกรณีนี้ คุณเพชรประเมินว่า “ช่วงครึ่งปีแรกตลาดอาจเติบโตไม่มากนัก ส่วนครึ่งหลังของปีก็ต้องรอดูว่า
Real Demand จะกลับมาหรือไม่ เพราะหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังซบเซา ผู้นำเข้าก็ไม่จำเป็นต้องเร่งตุนสินค้า แต่สามารถทยอย “ซื้อไป-ขายไป” ได้ ที่สำคัญ ค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์ปัจจุบันถูกกว่าสมัยก่อนโควิด ในส่วนของ “ธนากรฯ” เชื่อว่าการเติบโตในเชิงมูลค่าน่าจะใกล้เคียงเดิมคือ 10% ส่วนของ “สิทธินันท์” อัตราการเติบโตจะเป็นในสัดส่วนตัวเลขตัวเดียว (Single Digit) เนื่องจากเป็นตลาดที่ไม่หวือหวา”