วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในรอบนี้…จะไปสิ้นสุดที่จุดไหน ? SCB EIC คาดว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อ
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนสำคัญของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายมิติเข้าใกล้ระดับก่อนเกิด COVID-19 มากขึ้นด้านอัตราเงินเฟ้อไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 3/2022 และมีสัญญาณขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ด้านภาวะการเงินไทยปรับตึงตัวขึ้นเล็กน้อย ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 โดยในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ธปท. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง จาก 0.5% เป็น 1.75%
อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยเริ่มปรับสูงขึ้น ทั้งในตลาดสินเชื่อและตลาดพันธบัตร
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับสูงขึ้น โดยขนาดและระยะเวลาของการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยแต่ละประเภทของสถาบันการเงินแตกต่างกันออกไป โดย SCB EIC พบว่า สถาบันการเงินได้ส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีหรือ MLR มากที่สุด (57%) รองลงมาคือการส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน (56%) ขณะที่การส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR น้อยที่สุด (22%) นอกจากนี้ ต้นทุนการระดมทุนในตลาดพันธบัตรของไทยก็ปรับสูงขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
SCB EIC ประเมินว่า Neutral Rate ของไทยล่าสุดมีแนวโน้มอยู่ที่ 2.5%
SCB EIC คาดว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยประเมินว่า Neutral rate ของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบันยังคงติดลบต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาเป็นบวก และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวไประยะหนึ่งเพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายใช้เวลาส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ Neutral rate จะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับลดลงเล็กน้อย โดยจะกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนมากที่สุด
SCB EIC พบว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจาก 0.5% สู่ระดับ Neutral rate ที่ 2.5% จะส่งผลให้ Real GDP และเงินเฟ้อค่อย ๆ ลดลง โดยเริ่มเห็น Real GDP ลดลงครั้งแรก -0.1% ในไตรมาสที่ 2 หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก เทียบกับกรณีที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม และ Real GDP จะลดลงมากที่สุดในไตรมาสที่ 7 ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม Path ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนมากที่สุด รองลงมาคือการบริโภคภาคเอกชน และการนำเข้าสินค้า