อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้าตามแผน ดัน RS Music (อาร์เอส มิวสิค) เป็นธุรกิจแรกในเครือ เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2567 หลังบอร์ดบริหารอนุมัติการ Spin Off เพื่อต่อยอดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่การปรับโครงสร้างบริษัท เตรียมพร้อมทำธุรกิจเพลงแบบครบวงจร โดยเงินทุนที่ได้จากการระดมทุนจะนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ให้กับวงการเพลงไทย สร้างการเติบโตทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตรหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายฐานรายได้จัดเก็บลิขสิทธิ์จากช่องทางดิจิทัล ทั้งแพลต ฟอร์มสตรีมมิง และโซเชียลมีเดีย รวมถึงการสรรหาบุคลากรคุณภาพเสริมทัพเพื่อสร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่ในวงการเพลงให้กับผู้บริโภค มุ่งสร้างรายได้ 700 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ตามเป้าที่วางไว้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับ Soft Power ของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ
บอร์ดอนุมัติแผน Spin Off
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส เผยว่า
“หลังจากที่ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ประกาศแผนการเดินหน้าลุยธุรกิจเพลงอีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุด บอร์ดบริหารได้อนุมัติให้ดำเนินตามแผนการขยายการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเร่ง Spin Off ธุรกิจเพลงเข้าตลาดฯ เป็นธุรกิจแรกในเครือ เพื่อระดมเงินทุนในการลงทุนในธุรกิจเพลงอย่างเต็มที่อีกครั้ง ด้วยเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงมีโอกาสการสร้างรายได้หลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่องทางดิจิทัล โดยเงินทุนนี้จะนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงใหม่ๆ รวมถึงการจับมือร่วมกับพันธมิตรในรูปแบบต่างๆ เช่น การลงทุนผ่าน M&A (Mergers & Acquisitions) หรือ JV (Joint Venture) ที่เราได้เริ่มต้นไปแล้วกับแกรมมี่ พาร์ทเนอร์ที่ร่วมขับเคลื่อนวงการเพลงไทยมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ เราได้เจรจาและกำลังอยู่ในระหว่างการสรุปดีลกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ คาดว่าจะสามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ นอกจากนี้ ยังวางแผนนำทีมงานที่มีศักยภาพเข้ามาเสริมทัพการสร้างปรากฏการณ์ทางดนตรีใหม่ๆ ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของความตั้งใจของเราในการ Spin Off อาร์เอส มิวสิค เข้าตลาดฯ มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างสรรค์ผลงานและประสบการณ์ทางดนตรีแปลกใหม่และหลากหลาย ตอบโจทย์ความสนใจของผู้บริโภค พร้อมทั้งยังอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ด้านดนตรีของเราได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ”
5 แหล่งรายได้หลักของ อาร์เอส มิวสิค
ปัจจุบัน รายได้ของ อาร์เอส มิวสิค มีที่มาจาก 5 แหล่งหลัก ได้แก่
1. Digital Monetization เป็นรายได้จากผลงานเพลงทั้งจากศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินระดับตำนานของอาร์เอส จากช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียอย่าง YouTube, Facebook, Instagram, TikTok หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิง ได้แก่ Spotify, Apple Music, JOOX และอื่นๆ
2. Copyright Revenue เป็นรายได้จากการจัดเก็บและต่อยอดทรัพย์สินทางภูมิปัญญา (IP) ลิขสิทธิ์เพลงอื่นๆ ของ อาร์เอส มิวสิค
3. Marketing Projects & Campaigns เป็นรายได้จากโปรเจคหรือแคมเปญการตลาดต่างๆ เช่น การพัฒนาผลงานเพลงร่วมกับพันธมิตรต่างๆ
4. Showbiz & Concerts เป็นรายได้จากการจัดกิจกรรม อีเวนท์ เฟสติวัล และคอนเสิร์ต
5. Talent Management เป็นรายได้จากการบริหารและดูแลศิลปิน
เตรียมปรับโครงสร้าง
“เราอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้าง อาร์เอส มิวสิค ซึ่งจะช่วยเสริมการเติบโตของธุรกิจเพลงให้ครบวงจรและสามารถสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทางยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจ อาร์เอส มิวสิค มีความพร้อมในการรุกอุตสาหกรรมเพลงอย่างเต็มที่สำหรับปีนี้ด้วย โมเดลธุรกิจใหม่ที่ชัดเจน โปรเจคไฮไลท์ต่างๆ ตลอดทั้งปี และการทำกลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ทั้งในและต่างประเทศที่ช่วยเสริมความแข็ง แกร่งทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องทางดิจิทัลต่างๆ รวมถึงความทุ่มเทในการสร้างสรรค์ ผลงานเพลงใหม่ๆ จากทั้งศิลปินระดับตำนานและศิลปินรุ่นใหม่ของอาร์เอสในปีนี้ และมีการขยายฐานรายได้การจัดเก็บลิขสิทธิ์จากการนำเพลงไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่างๆ เราจึงมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจของ อาร์เอส มิวสิคได้ อย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่เป้ารายได้ 700 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมเริ่มต้นความร่วมมือใหม่ๆ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของไทย”
นอกจากนี้ เตรียมพบกับสีสันใหม่ของวงการเพลงไทยจาก โปรเจค RS Homecoming ของ อาร์เอส มิวสิค ที่กลับมาด้วยการดึงศิลปินดังในยุค 90s และ Y2K มาสร้างสรรค์ผลงานเพลงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น แดน วรเวช, บีม กวี, เขื่อน ภัทรดนัย, ดัง พันกร, เฟย์ ฟาง แก้ว, Girly Berry, จ๊ะ นงผณี และ โดม ปกรณ์ ลัม ซึ่งจะออกมาในสไตล์ไหน ต้องรอติดตามในเร็วๆ นี้ ขณะที่ โปรเจค RS Newcomers ก็กำลังเฟ้นหาศิลปินรุ่นใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่จะมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่และเขย่าวงการ T-pop ของไทยให้คึกคักยิ่งขึ้นอีกด้วย