จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2” หนึ่งในกิจกรรมฉลองครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์การทูตไทย-อินเดีย พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย (นางสุจิตรา ดูไร) รัฐมนตรีแห่งรัฐประจากระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลอินเดีย (ดร. ราจคูมาร์ รันจัน ซิงห์) มุขมนตรีและรองมุขมนตรีของรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีความใกล้ชิดกับประเทศไทยทั้งในทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณี งานเทศกาลที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยมากคืองานเทศกาล “ซังเก้น” (Sangken) ของรัฐอรุณาจัล ประเทศ กับเทศกาลสงกรานต์ ของประเทศไทย และมีงานเทศกาล “โบฮัก บิฮู” (Bohag Bihu) ของรัฐอัสสัมที่มีลักษณะเหมือนกับงานสงกรานต์ของไทย ถือว่าวัฒนธรรมประเพณีใกล้เคียงกันมากกับไทย ในนามตัวแทนรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยขอถือโอกาสนี้ขอบคุณรัฐบาลกลางของอินเดียและรัฐบาลของรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่จัดงานเทศกาล อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย ครั้งที่ 2 (Second Edition of North East India Festival in Thailand) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระการครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างไทยกับอินเดีย จะมีส่วนสำคัญในการเสริมความสัมพันธุ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางหลวงไตรภาคีระหว่างไทย เมียนมา และอินเดียเสร็จสมบูรณ์ จะยิ่งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างการให้มากยิ่งขึ้น
“3 ปีที่ตนมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีโอกาสนำคณะกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน เดินทางไปที่อินเดียแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งเดือนกันยายน 2562 เยือนมุมไบและเจนไน สามารถทำ MOU มูลค่ามหาศาลระหว่างไทยกับอินเดีย ครั้งที่สองพฤษภาคม 2563 เยือนเมืองบังกาลอร์และเมืองไฮเดอร์ราบัด ให้กระทรวงพาณิชย์ของไทยมีโอกาสทำ Mini-FTA กับรัฐเตลังคานาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 11 เมษายน 2565 จะช่วยทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับรัฐเตลังคานา ของอินเดียเพิ่มพูนมากขึ้น และตนมีแผนที่จะทำ Mini-FTA กับอีกหลายรัฐของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นรัฐกรณาฏกะ รัฐมหาราษฏระ รัฐเกรละ รัฐคุชราต รวมถึงรัฐอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียด้วย เพื่อเพิ่มพูนมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดียต่อไป”
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของอินเดียประกอบด้วย 8 รัฐ ได้แก่ 1. อรุณาจัลประเทศ 2. อัสสัม 3. เมฆกัลยา 4. มณีปุระ 5. มิโซรัม 6. นากาแลนด์ 7. ตริปุระ หรือคนไทยรู้จักกันดีในชื่อว่า “รัฐเจ็ดสาวน้อย” และ 8. สิกขิม ซึ่งเป็นรัฐน้องใหม่ล่าสุด เป็นแหล่งของวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรม ต่าง ๆ อาทิ การแปรรูปอาหาร สิ่งทอ และพลังงาน เป็นต้น รัฐบาลอินเดียกำลังเร่งผลักดันภูมิภาคนี้ให้เป็นประตูสำคัญสู่อาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทางหลวงไตรภาคีระหว่างอินเดีย-เมียนมา-ไทยเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยให้การขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างอินเดียและภูมิภาคอาเซียนสะดวกยิ่งขึ้น สำหรับการค้าไทย-อินเดียช่วง 6 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 314,196.64 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 34.26%) เป็นการส่งออก มูลค่า 185,940.14 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 40.92%) สินค้าส่งออกหลักของไทยไปอินเดีย 5 ลำดับแรก ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (เพิ่ม 309.78%) เม็ดพลาสติก (เพิ่ม 41.45%) เคมีภัณฑ์ (เพิ่ม 61.41%) อัญมณีและเครื่องประดับ (เพิ่ม 150.40%) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (เพิ่ม 18.51%)