กรุงศรี นำโดย กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ (KRUNGSRI EXCLUSIVE) เผยมุมมองทางเศรษฐกิจแบบเจาะลึกรอบโลก วิเคราะห์ทุกปัจจัยบวกที่จะเอื้อให้ไทยได้ไปต่อกับ Global Economic & Investment Outlook เปิดทุกเหตุผลของการลงทุนในไตรมาส 4/2564 อย่างมั่นใจ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากกรุงศรี กรุ๊ป และพันธมิตรระดับโลก BlackRock ร่วมถอดรหัสการลงทุน เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่จะส่งผลกระทบ อย่างสถานการณ์โควิด-19 และการได้รับวัคซีนยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมทั้งให้ข้อมูลเบื้องลึก อาทิ นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมคาดการณ์แนวโน้มการลงทุนที่เหมาะสม ชี้ชัดการลงทุนในหุ้นยังมาแรง เชื่อได้ตามเป้า SET ที่ 1,700 จุด โดยแนะนำพอร์ตการลงทุนระยะยาว 5-7 ปี ไล่ระดับเสี่ยงต่ำมากจนถึงสูง ส่วนการจัดพอร์ตระยะสั้นควรเน้นหุ้นและ REIT
KRUNGSRI EXCLUSIVE รวบรวมมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนจากทีมผู้เชี่ยวชาญของกรุงศรี กรุ๊ป ในรูปแบบ “ONE Krungsri Investment View” และมุมมองระดับโลกจาก BlackRock นำเสนอข้อมูลสำคัญที่จะนำมาใช้วิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลก เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า โดยมองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้เริ่มที่สหรัฐอเมริกา แล้วขยายเป็นวงกว้างไปยังอังกฤษ และสหภาพยุโรป โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะค่อยๆ ปรับขึ้น ซึ่งจะอยู่ในระดับที่ช้าหากเทียบกับในอดีต และจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการลงทุนในหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง
หากมองที่ประเทศมหาอำนาจของเอเชีย อย่าง จีน แม้จะแสดงท่าทียอมให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในระยะสั้นเพื่อเป้าหมายทางสังคมในระยะยาวก็ตาม แต่ทางการจีนก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้น (Equity) มากกว่าตราสารหนี้ (Fixed Income) โดยแนะนำให้เพิ่มนำหนักหุ้นจีน เพราะมองว่า Valuation ในปัจจุบันสะท้อนถึงมุมมองในแง่ลบมากเกินไป และคาดว่าจีนจะมีการผ่อนคลายเพิ่มเติมทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะที่ Sentiment ของญี่ปุ่นก็สดใสขึ้น จึงเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับนักลงทุนอย่างมาก
ส่วนเศรษฐกิจของไทยนั้น ทางวิจัยกรุงศรี (Krungsri Research) คาดการณ์ว่า GDP ปีนี้ขยายตัวเพียง 0.6% จากเดิมคาด 1.2% เนื่องจากความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยวที่ซบเซา และถึงแม้ว่าจะมีการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ก็ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูงอยู่ นอกจากนั้นยังมีความกังวลและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ในไทยจะยังสูงอยู่อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ นักลงทุนควรวิเคราะห์มุมมองทั้งปัจจัยบวกจากภายนอก นั่นคือ การกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว และการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อไทย และปัจจัยบวกภายใน ไม่ว่าจะเป็นอัตราการฉีดวัคซีนสูงขึ้น การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ การบรรเทาลงของภาวะขาดแคลนแรงงาน และการเปิดพื้นที่นำร่องบางส่วนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ร่วมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ คาดว่าจะช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งยังมองว่าภาคเกษตรของไทยจะเติบโตดีด้วยเช่นกัน
สำหรับมาตรการที่ส่งเสริมภาคการเงินนั้น ทางกรุงศรี คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. ก็ยังมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้อยู่ที่ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้และตลอดปีหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเปราะบางจากวิกฤติโควิด-19 อาทิ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและตลาดแรงงานอ่อนแอ จึงมุ่งเน้นการใช้มาตรการทางการเงินที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญกว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมองว่าไทยมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปและถึงแม้อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 แต่สำหรับไทยคาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า เนื่องจากแรงกดดัน เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของธปท.ที่ระดับต่ำเพียง 0.2% ในปี 2564 และ 0.3% ในปี 2565
สำหรับคำแนะนำเรื่องการลงทุนที่เหมาะสมนั้น บล. กรุงศรี (Krungsri Securities) ยังคงมีมุมมองเป็นบวกกับหุ้นไทย ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่จะดีขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2564 ถึง ไตรมาส 1 ของปี 2565 โดยคงเป้า SET ที่ 1,700 จุด ทั้งยังพบว่านักลงทุนจะเน้นการลงทุนในหุ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่คาดว่าให้ผลตอบแทนที่ดี โดยมีปัจจัยแวดล้อมที่ดีขึ้นช่วยดันดัชนีได้ โดยตลาดจะได้รับแรงสนับสนุนจากมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของกรุงศรี อธิบายต่อว่า ปัจจัยที่จะทำให้ภาคการลงทุนของไทยไปถึงฝั่งฝัน ขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีน เพราะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและผลตอบแทนของราคาหุ้น โดยระยะสั้นอาจมีการปรับฐาน และมองว่าภาคบริการจะค่อยๆ ฟื้นตัว ภาคการผลิตก็น่าจะได้รับแรงผลักดันจากการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งมีส่วนช่วยการจ้างงานเพิ่มในระบบ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง นอกจากนั้นควรจับตาปัจจัยการเมืองทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งยังมีแนวโน้มที่อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากทิศทางการลงทุนในหุ้นแล้ว ยังมีการลงทุนที่อาจพบความเสี่ยงได้ อาทิ ตราสารหนี้ไทย ซึ่ง บลจ. กรุงศรี (Krungsri Asset Management) คาดว่าตลาดผันผวนจากปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณหน้า ในระยะสั้นอาจยังอาจมีความเสี่ยงแต่ Downside จำกัด หรือแม้กระทั่งตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ที่ทีมโกลบอลมาร์เก็ตส์ (Global Markets) มองว่าค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนช่วงสั้น ขณะที่สหรัฐฯ ลดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน จึงคาดว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น
ส่วนวิธีการบริหารจัดการพอร์ตหรือ Asset Allocation นั้น ทาง Krungsri Investment Intelligence Office แนะนำพอร์ตการลงทุนระยะยาว (Strategic Asset Allocation) 5-7 ปีขึ้นไป ให้จัดตามระดับความเสี่ยง 5 รูปแบบ ไล่จากความเสี่ยงต่ำถึงความเสี่ยงสูง ขึ้นอยู่กับการรับความเสี่ยงได้ของนักลงทุน ตั้งแต่แบบ Conservative มาก นั่นคือเงินฝากและลงทุนในตราสารหนี้ หรือจะเลือกแบบจนถึง Conservative แบบบาลานซ์ แบบเติบโต และแบบเติบโตมาก ที่จะเพิ่มการลงทุนในหุ้น REIT และทองคำ เข้าไป พร้อมแบ่งสัดส่วนหุ้นให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และสำหรับการจัดพอร์ตระยะสั้น ยังคงให้มุมมองบวกกับหุ้นและ REIT มุมมองลบกับทองคำ และคงสัดส่วนสำหรับตราสารหนี้ระยะสั้น และ Money Market ซึ่งกรุงศรีมั่นใจว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนบริหารจัดการพอร์ตของตนเองได้ดีและแข็งแกร่งมากขึ้น