บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์–ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ลงนามความร่วมมือร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการออกแบบและพัฒนาอาคารสิรินธรให้เป็นศูนย์เตรียมความพร้อมทางการแพทย์ขั้นสูงเพื่อรองรับวิกฤติสุขภาพ หรือศูนย์ CAMP พร้อมสนับสนุนนวัตกรรมด้านการออกแบบ ข้อมูล รวมถึงองค์ความรู้ เพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับอาคารที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งการรักษาพยาบาลโรคระบาดร้ายแรง และการรักษาพยาบาลปกติ โดยถือเป็นอาคารต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย มุ่งหวังขยายศักยภาพและความสามารถในการรองรับการรักษาพยาบาล และรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ให้กับประเทศไทย
นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 บริษัทฯ ได้เร่งพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์รูปแบบการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนานวัตกรรมที่สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถรับมือและต่อสู้กับโรคโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย อาทิ ห้องตรวจเชื้อความดันบวก หรือ Positive Pressure SWAB Cabinet รวมถึง ห้องไอซียูโมดูลาร์ เป็นต้น
ทางเอสซีจีมีเจตจำนงค์ที่จะร่วมมือพัฒนางานด้านวิศวกรรมตามรูปแบบโครงการและความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อให้เป็น Highly Advance & Special Facility สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ทั้งนี้ เอสซีจีจะนำนวัตกรรมการออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างและระบบต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ก้าวหน้าและทันสมัย และองค์ความรู้ด้านการก่อสร้างของทางบริษัทฯ มาใช้ในโครงการนี้
งานออกแบบและงานวิศวกรรมในโครงการนี้ สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบ (High Flexibility & Adaptability) ทั้งในช่วงเวลาวิกฤติโรคระบาดและในช่วงเวลาปกติ เป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับแผนการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของโรงพยาบาลจุฬาฯ รวมทั้งตอบโจทย์การก่อสร้างภายในพื้นที่จำกัดในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่มีผลกระทบต่ออาคารรอบข้าง”
โครงการนี้เป็นการปรับปรุงอาคารเดิมภายในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ให้เป็นพื้นที่รองรับทางการแพทย์ในภาวะวิกฤติ ซึ่งเอสซีจีจะสนับสนุนนวัตกรรมด้านวิศวกรรมโครงสร้างและเทคโนโลยีระบบประกอบอาคาร วัสดุก่อสร้าง ส่วนประกอบและอุปกรณ์อาคาร (Building materials) ระบบและวิธีการก่อสร้าง ระบบภูมิสถาปัตย์ ระบบและอุปกรณ์จัดการขยะและของเสีย เทคโนโลยีการควบคุมอาคารและพลังงาน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพลังงานทางเลือก เพื่อให้โครงการนี้สามารถรับมือสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ศาสตราจารย์ นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “ศูนย์เตรียมความพร้อมทางการแพทย์ขั้นสูงเพื่อรองรับวิกฤติสุขภาพ หรือ ศูนย์ CAMP เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EID quarter ที่มีวัตถุประสงค์ในการรองรับการรักษาพยาบาลในสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ ตามแผนแม่บทและผังการใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อให้เป็นส่วนต่อขยายจากส่วนการรักษาโรคอุบัติใหม่เดิมที่อาคารจงกลนี-วัฒนวงศ์ โดยฝ่ายออกแบบและบริหารโครงการ (PPM) ของโรงพยาบาลจะเป็นผู้ออกแบบผังพื้นที่อาคาร ลักษณะอาคารและส่วนงานสถาปัตย กรรม ปรับปรุงอาคารสิรินธรที่มีอยู่เดิมให้เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ภายในประกอบด้วยห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยวิกฤต หอผู้ป่วยแบบรวม (Cohort AIIR ward) และพื้นที่ใช้สอยอื่น อาทิ พื้นที่สำหรับการเรียนการสอน ศูนย์ฝึกผ่าตัดและหัตถการทางคลินิกขั้นสูง รวมถึงส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานทางการแพทย์อื่น ๆ ที่จำเป็น
โรงพยาบาลจุฬาฯ มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการออกแบบโครงการนี้ ให้เป็นต้นแบบของอาคารที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง สามารถปรับเปลี่ยนโหมดการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ โดยมีภารกิจหลักคือเป็นศูนย์รักษาพยาบาลและห้องผ่าตัดในสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการประคองกิจการภายในองค์กร (BCP) ในยามวิกฤต ส่วนภารกิจรองคือให้บริการทางการแพทย์ในสถานการณ์ปกติ เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนการสอน การฝึกผ่าตัดและหัตถการขั้นสูง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากภายในและภายนอกโรงพยาบาล รวมถึงจัดแสดงความก้าวหน้าของโรงพยาบาลจุฬาฯ”
“จากความร่วมมือกับ เอสซีจี ในครั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยมั่นใจว่าจะทำให้ศูนย์ CAMP เป็นอาคารต้นแบบทางการแพทย์เชิงวิกฤติที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย”