ธปท. เผยผลสำรวจและกระทบสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท. (Retail CBDC) ต่อภาคการเงินไทย เป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่เข้าถึงได้ง่าย เชื่อมต่อการพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ๆได้ดี เอื้อต่อการกำหนดนโยบาบการเงินได้เร็ว ตรงจุด
วชิรา อารมย์ดี ผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้ช่วยผู้ว่าการ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน ต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน “The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currencyin Thailand” ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC และทดสอบใช้งานจริง (Pilot Test) โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การศึกษาผลกระทบของ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย
ผลการศึกษาชี้ว่า การออกแบบและการพัฒนา Retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย โดยจะมีลักษณะสำคัญ คือ (1) รูปแบบคล้ายเงินสด และไม่จ่ายดอกเบี้ย (2) อาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน และ (3) มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมาก ๆ
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน
ธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ e-money ได้บางส่วนในระยะต่อไป
2. ผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน
จากผลสำรวจ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ของ ธปท. และมองว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและการแข่งขันในอนาคต นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวทางการออกแบบ Retail CBDC ข้างต้นเพื่อจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อภาคการเงินไทย
ทั้งนี้ ผลสำรวจบางส่วนเสนอเพิ่มเติมให้ ธปท. มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และการใช้งานของ Retail CBDC แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะความแตกต่างจากการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
3. แผนการทดสอบ Retail CBDC เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot test)
จากผลการศึกษาและความเห็นที่ได้รับข้างต้น ธปท. จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาและทดสอบการใช้งาน Retail CBDC ดังนี้
1) การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อศึกษาการใช้งาน Retail CBDC ในการรับแลก หรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบในไตรมาส 2 ปี 2565
2) การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน Retail CBDC ในกรณีต่าง ๆ โดย ธปท. จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบ
เบื้องต้นการทดสอบจะใช้งานภายใน ธปท. คาดว่าเริ่มทดลองในช่วงไตรมาส 2/2565 ก่อนโดยเน้นการทดสอบระบบกลางซึ่งจะมีผู้ให้บริการเข้ามาร่วมทดสอบด้วย เมื่อมั่นใจในเรื่องของระบบและรูปแบบต่างๆ แล้ว ค่อยขยายออกไปภายนอก ซึ่งก็จะอยู่ในขอบเขตการใช้ที่จำกัด ทั้งพื้นที่ หรือจำนวนผู้ใช้งาน ธปทกำลังพิจารณาดูความเหมาะสม เช่น ความพร้อมของผู้บริการที่มาเข้าร่วมทดสอบ รูปแบบบริการที่เสนอ ซึ่งสามารถครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานต่างๆ
“รูปแบบฟังชั่นพื้นฐาน เช่น การรับ แลก และชำระสินค้าบริการ ซึ่งมีทั้งรูปแบบ online & offline โดยเป็นการใช้งานภายในกลุ่มทดสอบที่สมัครใจ ทั้ง ประชาชน ร้านค้าต่างๆ ทั่วไปภายในพื้นฐานที่กำหนดการจำกัดจำนวนเงินในวอลเลทที่ทดสอบยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าควรอยู่ในระดับไหนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องประเมิน”
ธปท. จะประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ จากการทดสอบการใช้งานข้างต้น เพื่อให้มั่นใจว่า Retail CBDC จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศในภาพรวม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต