สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐบาล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมประกาศสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมสู่ตลาดโลก ด้วย 4 หลักการสร้างสังคมนวัตกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมพลิกเกมนวัตกรรมจากการพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติก และเตรียมขึ้นทะเบียน 15 สายพันธุ์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารในเชิงพาณิชย์ คาดจุลินทรีย์สัญชาติไทยสามารถลดการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศ 100% ภายใน 7 ปี และเผยความสำเร็จของศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (InnoAg) BCG Model พลิกโฉมเกษตรกรรมด้วยชีวจุลินทรีย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อัปเกรดสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก
4 หลักการสร้างสังคมนวัตกรรม
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว) เปิดเผยถึง
การดำเนินงานขององค์กรว่า วว. มุ่งเน้นการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานที่เรียกว่า 4 Guiding Principles ประกอบด้วย
- วทน. เพื่อเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio based Value Creation) วว.วิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่คลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ เริ่มตั้งแต่คลัสเตอร์เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจัดว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทย ตามด้วยการแปรรูปอาหารเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร วิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ พัฒนาด้านการแพทย์ครบวงจร รวมไปถึงพื้นที่สงวนชีวมณฑล
- เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) วว.ได้พัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างลงตัว โดยเป็นเทคโนโลยี
ที่มีรูปแบบและเงื่อนไขในการใช้งานที่เหมาะกับการใช้งานได้จริง ทั้งในด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ที่สำคัญที่สุดคือ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในการเอื้อประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างอาชีพและยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการได้จริง - วทน.แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร (STI for Total Solution) เราให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โอทอป วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาให้กับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว การดำเนินงานส่วนนี้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการ ผ่านการรับฟังแนวคิด และปัญหาของผู้ประกอบการก่อน แล้วจึงนำมาวิจัยและพัฒนา ทั้งการสร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และแก้ไขปัญหาของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ ผ่านศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการวิจัย พัฒนาและบริการอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนและชุมชน
- วทน. เพื่อชุมชน (STI for Area Based) มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
เตรียมขึ้นทะเบียน 15 สายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติก
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวต่อไปถึงผลงานความสำเร็จของ วว. ว่า “ตามที่ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Innovative Center for Production of Industrially Used Microorganisms: ICPIM) ภายใต้การกำกับดูแลของวว.ได้รับงบประมาณจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 154.13 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้มีปริมาณมากเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมชีวภาพตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ขณะนี้ วว. สามารถพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตจุลินทรีย์โพรไบโอติกคุณภาพสูง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นได้ถึง 15 สายพันธุ์ได้เป็นผลสำเร็จ โดยได้รับอนุมัติใบอนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ผลิตประเภทวัตถุเจือปนอาหารจากองค์การอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการขอขยายขอบข่ายการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ผลิตประเภทเสริมอาหารเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในเร็ว ๆ นี้
การได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นทำให้ ICPIM สามารถขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ถึง 2.5 หมืนลิตรต่อปี จากเดิมที่ผลิตได้เพียง 1.5 หมื่นลิตรต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม การดำเนินงานของ ICPIM มุ่งเน้นที่การวิจัยและพัฒนา โดยนำความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังหัวเชื้อกว่า 1 หมื่นชนิดมาพัฒนาขยายผลในระดับห้องปฎิบัติการ ด้วยกระบวนการคัดสรรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารมาพัฒนาให้เป็นโพรไบโอติกได้ถึง 15 สายพันธุ์ จาก 24 สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม และเสริมความงามทั่วโลก
นอกจากจุลินทรีย์โพรไบโอติกจะมีประโยชน์โดยตรงกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท เช่น น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ น้ำตาลสุขภาพ เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพยังสามารถพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติกให้มีคุณสมบัติเป็นทางเลือกใช้ป้องกันการเกิดโรค หรือใช้ควบคู่กับการรักษาได้อีกด้วย”
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวต่อไปว่า “ปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศ อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาทต่อปี ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ของ ICPIM จะสามารถชดเชยเงินลงทุนในส่วนนี้ของภาคอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ในช่วงแรกของการเริ่มโครงการคือประมาณ 20-30% และคาดว่าภายใน 5-7 ปีก็จะสามารถชดเชยได้ 100% การนำจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่ผลิตได้ในประเทศมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ โดย ICPIM จะเป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีจุลินทรีย์และกระบวนการชีวภาพต้นแบบ ที่พร้อมให้บริการ และเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
BCG Model พลิกโฉมเกษตรกรรม
นอกจากนี้ วว. ยังมีผลงานที่น่าชื่นชมจากการดำเนินงานและความสำเร็จของศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (InnoAg) ภายใต้การกำกับดูแลของวว. ซึ่งดำเนิน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล” ในปีงบประมาณ 2564ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการผลิตพืชรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยใช้สารชีวภัณฑ์เป็นตัวตั้งต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกระบวนการผลิต ลดปัญหาสุขภาพของเกษตรกร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทาง BCG โมเดล พัฒนาให้เกิดการทำเกษตรแบบปลอดภัยยั่งยืนแข่งขันได้ในระดับโลก
ทั้งนี้ BCG โมเดล ตามกรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การนำสารชีวภัณฑ์สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงมีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีสารพิษตกค้าง สามารถนำมาใช้เพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวถึงการขับเคลื่อน BCG Model ใน 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อมุ่งเป้ายกระดับ 7 พืชเศรษฐกิจไทยว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้เลือก 4 จังหวัดในเขตภาคกลางตะวันตกเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ อยุธยา และสุพรรณบุรี (ข้าว)นครปฐม (ส้มโอ)และกาญจนบุรี (อ้อย มันสำปะหลัง กล้วย และหน่อไม้ฝรั่ง)ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 10,650,074 ไร่
จากการสำรวจและวิจัยในเบื้องต้น พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน โดยปัญหาหลักของเกษตรกรในพื้นที่มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต – ที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพการผลิต
- ปัญหาเรื่องสุขภาวะของผู้ผลิตและผู้บริโภค – เกิดการตกค้างในสภาพแวดล้อม ในดิน รวมถึงตกค้างในผลผลิต ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง
- ปัญหาด้านการตลาด – ปัญหาการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ราคาผลผลิตตกต่ำ
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวถึงการอัปเกรดสินค้าเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันว่า “วว.ได้ยกระดับการผลิตพืชรูปแบบเกษตรสมัยใหม่โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก – ชุดอุปกรณ์ล้างและตัดหน่อไม้ฝรั่ง (ยืดอายุการเน่าเสียของหน่อไม้ฝรั่งได้นานขึ้น), เทคโนโลยีข้าวเสริมซีลีเนียม, เทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุเพาะเห็ด – ก้อนเพาะเขื้อเห็ดจากฟางข้าวเสริมซีลีเนียมสำหรับเห็ดนางรม กากมันสำปะหลังสำหรับเห็ดฟาง), เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต – ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตอ้อยเสริมด้วยจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต เพื่อเพิ่มปริมาณ/คุณภาพผลผลิตของอ้อย, การเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลผลิตพืชด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต (มันสำปะหลังและกล้วย), เทคโนโลยีผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในแปลงสาธิต และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัด (หัวเชื้อบาซิลัส ซับทิลิส บิววาเรีย ไตรโคเดอร์มา เมตาไรเซียมเชื้อสด จำนวนรวมทั้งสิ้น 270,950 ลิตร)
นอกจากนี้ ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทาง BCG โมเดล ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์จากข้าว – โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มผงชงดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวตัง และขนมขบเคี้ยวจากข้าว (กราโนล่า คุ้กกี้), จัดทำคู่มือถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงวัตถุดิบและสิ่งของที่จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำหรับจัดส่งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน, การผลิตผลิตภัณฑ์จากอ้อย – ไซรัปจากอ้อย น้ำตาลอ้อยชนิดก้อน (รสชาติ 100% ธรรมชาติ กาแฟ ชาเขียว) น้ำตาลอ้อยชนิดผง, เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากมะพร้าวน้ำหอม – ผลิตภัณฑ์ชงดื่มบำรุงกระดูก การทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมะพร้าวในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง และการเสริมสร้างกระดูกในเซลล์กระดูกอ่อน (การให้บริการในเชิงพาณิชย์), เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากกล้วยไข่ กล้วยหอม ส้มโอ และข้าว – สารสกัดสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระและการสร้างเม็ดสีผิว (กระ ฝ้า), พัฒนาบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตร สร้างโอกาสและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจฐานราก”
พลิกโฉมเกษตรกรไทย สู่ Smart Farmer
“ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของนักวิจัยไทย ร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานสนับสนุนในท้องถิ่น ทำให้โครงการฯ นี้ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต Functional Food และต้นแบบบรรจุภัณฑ์ 163 ราย เกษตรกร / วิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างปัจจัยการผลิตได้ 5 ผลิตภัณฑ์, สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าใหม่ได้ 10 ผลิตภัณฑ์, มีผู้ประกอบการสนใจร่วมลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ภายใต้ BCG โมเดล 6 ราย สามารถสร้างต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Non Food) และผสานแนวคิด Green Technology และแนวคิดการออกแบบแบบองค์รวม (Holistic Design) ได้ 2 ต้นแบบ คือ พัฒนาแบบร่างสำหรับบรรจุภัณฑ์เพาะกล้าอ้อย และพัฒนาแบบร่างสำหรับบรรจุภัณฑ์กันกระแทกเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจที่ผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ทางการเกษตรของสถาบัน สามารถช่วยยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรไทยในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น ช่วยให้ผลผลิตในแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 494 ราย จาก 4 จังหวัดต้นแบบ ได้รับผลผลิตที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ ความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สร้างรายได้ให้แก่เกษตรเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ
นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเกษตรกรคุณภาพรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชาติด้วย BCG โมเดล เพื่อเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน”