ปรียามล ธนวิสุทธิ์ ชวนเหล่าเซเลบริตี้เมืองไทย ร่วมสมทบทุนในโครงการ HiSo We Love ครั้งที่ 2 ส่งมอบกำลังใจร่วมสู้ภัย COVID–19 ซื้อเครื่อง PAPR (Powered Air Purifying Respirator) หรือ ชุดอุปกรณ์ปกป้องระบบทางเดินหายใจขั้นสูง ที่ป้องกันเชื้อให้กับผู้สวมใส่ได้ถึง 99.97% ทำให้ผู้สวมใส่หายใจได้สะดวกมากกว่าการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งจัดเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงในการให้การรักษาผู้ป่วยโควิด ในสถานพยาบาลที่มีความเสี่ยงสูงในวิกฤตโควิดระบาดอย่างรุนแรงในขณะนี้ มอบให้กับ ศ.(วุฒิคุณ) นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานแพทย์รามาธิบดีรุ่นที่ 23 และประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และ รศ.ทพ.เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์ อาจารย์พิเศษคณะทันตแพทย์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม รพ.สระบุรี จ.สระบุรี, รพ.บ้านบึง จ.ชลบุรี, รพ.นครชัยศรี 5 จ.นครปฐม, รพ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม, รพ.บางปะกอก 8 (แผนกฉุกเฉิน) กรุงเทพฯ, องค์กรแพทย์ รพ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และ โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ของบุคลากรทางการแพทย์และแพทย์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยมี วิชัย-วิจิตรา ส่งทวีผล, ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี, ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ, ดร.อารียา อัศวานันท์, สุริยน ศรีอรทัยกุล, วสุ-พริมรตา แสงสิงแก้ว, ปุณณภา เตชะโรจน์กุล, นรรจาพร จงควินิต, วสุ สกุลอนันต์, รวมพล โรจนกิจ, ภัทรพล นิธิสุนทร, บุญปวีณ บุญมีโชติ และสรัลชนา อภิสมัยมงคล ร่วมเป็นสักขีพยาน
ศ.(วุฒิคุณ) นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานแพทย์รามาธิบดีรุ่นที่ 23 และประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า
“ปัจจุบันกำลังแพทย์พยาบาลซึ่งทำงานดูแลผู้ป่วยโควิดอยู่ในโรงพยาบาลระดับต่างๆ ที่อยู่ทั่วประเทศนั้นค่อนข้างเรียกได้ว่าเต็มมือมากครับ เพราะจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน แต่ในขณะเดียวกันมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนเท่าเดิม หรือน้อยลง หากบุคลากรทางการแพทย์มีการติดเชื้อ ดังนั้น การปกป้องในขั้นต้นจึงมีความสำคัญมาก โดยเครื่อง PAPR เป็นเครื่องที่ช่วยกรองอากาศที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ รพ.มีผู้ป่วยโควิดจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่เชื้อลอยอยู่ในอากาศ ดังนั้นการมีเครื่อง PAPR ก็ช่วยกรองอากาศให้สะอาดและส่งอากาศนั้นเข้าไปในหมวก หรือในแมสก์ของคุณหมอ หรือพยาบาลที่ใส่ชุด PPE ทำให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย และรู้สึกอึดอัดลดน้อยลง เพราะว่าอากาศที่อัดเข้าไปที่บริเวณแมสก์หรือหน้ากาก ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นสะพานบุญในการนำเครื่อง PAPR ให้ผมในฐานะประธานรุ่นแพทย์รามาธิบดีรุ่นที่ 23 เพื่อนำไปมอบให้กับคุณหมอที่ดูแลผู้ป่วยโควิดตามโรงพยาบาลต่างๆ”
รศ.ทพ.เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์ อาจารย์พิเศษคณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เหตุการณ์โควิดเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ ซึ่งพบว่าแพทย์ด่านหน้าต้องรับคนไข้ในส่วนของ Emergency และในส่วนของ รพ.สนามต่างๆ ที่มีอุปกรณ์ส่วนใหญ่คือชุด PPE แล้วคุณหมอต้องมีการใส่ Face shield หรือ แว่นตา รวมถึงการใส่แมสก์ที่ต้องใส่สองชั้น ทำให้ระหว่างที่คุณหมอทำงานก็มีความร้อนเกิดขึ้น หายใจไม่สะดวก ทำให้บางครั้งการทำงานหลายๆ ชั่วโมง มีอาการเหนื่อยล้าและอาจเป็นลม เหตุนี้เราจึงเลือกการมอบเครื่อง PAPR ที่สามารถช่วยดึงอากาศบริสุทธิ์ โดยตัวเครื่องจะติดแนบกับตัวคุณหมอ ซึ่งสามารถทำงานต่อเนื่องได้ถึง 68 ชั่วโมง เราจึงมองว่าอุปกรณ์นี้จะช่วยให้คุณหมอทำงานระยะยาวในด่านหน้าได้ดี และเลือกมอบให้โรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลและโรงพยาบาลสนาม รวมถึงแผนกฉุกเฉินต่างๆ ที่รับคนไข้ได้จำนวนมาก เพราะคุณหมอบางท่านต้องรับคนไข้ถึง 400 – 600 คน”