ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ นำทีมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ U2T ในภารกิจพิเศษ “U2T Covid-19 Week ก้าวต่อไป สู้ภัยโควิด” ณ โรงเรียนวัดเกาะกระชาย จ.นครนายก ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมี นาย วีรศักดิ์ วงศ์สมบัติ นายกสภา มทร.ธัญบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมทร.ธัญบุรี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และนายพงษ์สวัสดิ์ ธีระวัฒนกุล นายก อบต.เขาพระ ร่วมให้การต้อนรับ

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า กิจกรรมพิเศษ “U2T Covid Week ก้าวต่อไป สู้ภัยโควิด” อว.ได้ปรับแผนการทำงานของผู้ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 พร้อมกัน 3,000 ตำบลทั่วประเทศที่ผู้ได้รับการจ้างงาน 6 หมื่นคนปฏิบัติงานอยู่ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับชุมชนและรณรงค์การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมเชิงรุกและกิจกรรมเชิงรับมือ

- กิจกรรมเชิงรุก คือ “รุกคลีนพื้นที่ เคลียร์เชื้อร้ายสร้างความปลอดภัยให้ชุมชน” พร้อมสร้างเขตปลอดภัย เน้นการเข้าไปเคลียร์พื้นที่ การทำความสะอาดเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระกระจายของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถลงพื้นที่ไปปฏิบัติภารกิจได้ ทั้งนี้ โรงเรียนจะเป็นสถานที่แรก ที่จะเริ่มปฏิบัติภารกิจ เนื่องจากจะเปิดเรียนในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักเรียน ผู้ปกครองและครู

- กิจกรรมเชิงรับ คือ “รวมพลังฉีดวัคซีน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ลดการระบาดของโรค” เร่งสำรวจคนในชุมชนในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว เร่งสร้างความมั่นใจและอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้และคนในชุมชนได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน เพื่อให้ชุมชนกลับมามีชีวิตอย่างปกติในเร็ววัน


ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า
“ในการดำเนินโครงการ U2T ทาง มทร.ธัญบุรี ได้มีการขับเคลื่อนทั้งมหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นโครงการที่ช่วยเหลือพื้นฐานรากหญ้าของประเทศ โดยได้รับผิดชอบพื้นที่ 80 ตำบล ใน 6 จังหวัด พื้นที่จังหวัดนครนายก 10 ตำบล โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวง
ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัย มทร.ธัญบุรี เห็นว่า โครงการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก หลังจากดำเนินการเสร็จสิ้น 1 ปี ได้ดำเนินการคัดเลือกโครงการต่าง ๆ โดยตั้งเป้าไว้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 % ที่ดำเนินการในปีแรกและต่อเนื่องในปีที่สอง และให้การสนับสนุนในส่วนของงบประมาณต่อไป

สำหรับในช่วงนี้มีการระบาดของโควิด-19 มีความจำเป็นที่ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่ U2T Covid Week ก้าวต่อไป สู้ภัยโควิด” กิจกรรมพิเศษ ทาง อว.ได้มีการปรับแผนการทำงานของผู้ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T ใหม่ กิจกรรมดังกล่าวอยู่ในแผนการสนับสนุนด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างสุขลักษณะที่ดี ของทางมหาวิทยาลัยมีซึ่งได้มีการจ้างงานผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 1 ตำบลมีบัณฑิต 10 คน นักศึกษา 5 คน บุคลากรในตำบล 5 คน และมีอาจารย์ 1 ท่าน เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีความสำคัญ เด็กๆ ได้เรียนรู้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้พ่อแม่พี่น้อง
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังได้สนับสนุนในส่วนของอุปกรณ์ เช่น เจลแอลกอฮอล์หรืออุปกรณ์ป้องกันจัดหาหน้ากากอนามัยที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ผลิตอีกด้วย ซึ่งถือว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ทาง มทร.ธัญบุรี ช่วยเหลือประเทศได้อีกทางหนึ่ง