SHR ปรับกลยุทธ์จัดพอร์ต ส่งผลดีสะท้อนในอัตราเข้าพักที่เพิ่มสูงขึ้น มองสภาวการณ์นี้เป็นจังหวะดีในการลงทุน เดินหน้ามองหาโอกาสขยายธุรกิจ ทั้งการซื้อกิจการ ปรับปรุงประสิทธิภาพสินทรัพย์ พัฒนาแบรนด์ และรับบริหารจัดการโรงแรม ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ทโฟลิโอเป็น 2 เท่า ภายใน 5 ปี
เดิร์ก อังเดร ลีน่า คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด มหาชน (SHR) บริษัทเรือธงในการประกอบธุรกิจโรงแรมของสิงห์ เอสเตท มองว่าช่วงปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ท้าทาย และพิสูจน์ให้เห็นว่า การวางกลยุทธ์จัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงของ SHR เป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะแม้ธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ SHR ก็ยืนหยัดอยู่ได้ เพราะมีการลงทุนในโรงแรมที่หลากหลาย โดยรีสอร์ทในมัลดีฟมีอัตราเข้าพักสูงขึ้น 63% ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และ 71% ในเดือนมกราคมปีนี้ เนื่องจากจุดแข็งด้านโลเคชั่น ความสวยงามของสถานที่ และบริการที่ดีตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ประกอบกับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการเรื่องสุขอนามัย ความปลอดภัย มาตรการป้องกันเรื่องโรคติดต่อได้มาตรฐานสากล
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เปิดตัวแบรนด์โรงแรมและรีสอร์ทใหม่ล่าสุดได้แก่ แบรนด์ nābor” (เนเบอร์) ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตด้วยดิจิทัล และรีสอร์ทภายใต้แบรนด์ “SAii” อีก 2 แห่งในประเทศไทย ในภาคใต้ของประเทศไทย “ทรายลากูน่าภูเก็ต” (SAii Laguna Phuket) และ “ทรายพีพีไอส์แลนด์วิลเลจ” (SAii Phi Phi Island Village) รีสอร์ทไลฟ์สไตล์ระดับบน ที่มีบุคลิกสนุกสนาน และมอบความอิสระให้กับนักเดินทางที่แสวงหาประสบการณ์การพักผ่อนรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งการสร้างแบรนด์โรงแรมในไทย นอกจากเป็นการสร้างธุรกิจรับบริหารจัดการโรงแรมที่บริษัทตั้งใจจะใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการเติบโตให้พอร์ทโฟลิโอต่อไปแล้ว แบรนด์ดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในแผนที่เปลี่ยนรูปแบบการบริหารของโรงแรมในกลุ่ม Outrigger ให้เป็นแบรนด์ของบริษัทเอง เพื่อประหยัดต้นทุนในการบริหาร การใช้ทรัพยากรร่วมกันในหลายส่วน ให้เหมาะสมกับภาวะการณ์ปัจจุบัน
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2653 มีรายได้ 297.3 ล้านบาท ผลการดำเนินงานปกติ (ไม่นับรวมรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ) รายงาน Adjusted EBITDA จำนวน -22.5 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 85% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เป็นผลมาจากการกลับมาเป็นบวกของผลประกอบการโรงแรมที่มัลดีฟส์ รวมถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ช่วงปลายปี และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากโควิด 19 ที่มีต่ออุสาหกรรมท่องเที่ยว ผลการดำเนินงานในปี 2563 จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีรายได้จากการให้บริการจำนวน 1,562.9 ล้านบาท ลดลง 51% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการหยุดให้บริการโรงแรมชั่วคราวในทุกประเทศที่กลุ่มบริษัทดําเนินธุรกิจอยู่ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดแม้อุตสาหกรรมโรงแรมจะทยอยกลับมาให้บริการในครึ่งปีหลังของปี 2563
“การดำเนินธุรกิจอาจมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามากระทบ สิ่งสำคัญคือเราต้องวางแผนล่วงหน้า สร้างกลยุทธ์ที่รัดกุม เดินตามกลยุทธ์ที่วางไว้ และพร้อมจะปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ SHR มองว่าสภาวการณ์เช่นนี้กลับเป็นโอกาสดีในการลงทุน
ทั้งผ่านการซื้อกิจการ ปรับปรุงประสิทธิภาพสินทรัพย์ที่ดำเนินการอยู่ เดินหน้าในการพัฒนาแบรนด์ และรับบริหารจัดการโรงแรม ด้วยความพร้อมและความทุ่มเทของผู้บริหารและทีมงาน ผสานกับความแข็งแกร่งทางการเงินของเรา จะสามารถนำพา SHR ไปสู่เป้าหมายที่จะเพิ่มพอร์ทโฟลิโอเป็น 2 เท่า ภายใน 5 ปี ตามที่วางไว้” นายเดิร์กกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัทฯ ได้ประกาศความสำเร็จในการเดินหน้าซื้อหุ้นทั้งหมดในโรงแรมทั้ง 26 แห่งในสหราชอาณาจักรภายใต้แบรนด์ Mercure เพื่อตรียมรองรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเดินทางในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีความต้องการการท่องเที่ยวสูงมากจากทั้งภาคการท่องเที่ยวในประเทศ และระหว่างภูมิภาคยุโรป จุดเด่นของพอร์ตโฟลิโอนี้ คือการกระจายตัวของโรงแรมต่างๆ ตามเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักร รองรับนักเดินทางจากในประเทศและในทวีปยุโรปกว่าร้อยละ 90 ได้รับอานิสงส์จากความคืบหน้าที่ดีของการรับวัคซีนในสหราชอาณาจักร โดยหวังว่าตลาดท่องเที่ยวของยุโรปจะกลับมาคึกคักในไตรมาสที่ 3 โดยภายหลังการทำรายการ SHR จะมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 100 ซึ่งจะทำให้ SHR รับรู้รายได้ภายหลังเพิ่มสัดส่วนในการลงทุนในทรัพย์สินกลุ่มนี้คาดว่าจะสามารถผลักดันรายได้ให้เติบโตขึ้นปีละ 2 – 3 พันล้านบาท หากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับเข้าสู่สภาวะปกติ