ประเทศไทยเผชิญกับ “วิกฤตน้ำ” ทั้งสถานการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ในขณะที่ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากยังมีการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยและขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจะต้องประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งการดำรงชีวิต สุขอนามัย และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
ปี 2564 แล้งหนัก-น้ำเค็มรุก พืชผลเสียหายตัดโอกาสส่งออกสินค้าเกษตร
ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตภัยแล้งหนัก เนื่องจากปริมาณฝนสะสมประเทศไทยในปี 2563 มีค่าน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (ปี 2562-2563) ทำให้ฤดูแล้งนี้จะมีน้ำไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และขณะนี้พื้นที่ในกรุงเทพมหานครเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว โดยความเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากขึ้น แต่ระบบชลประทานไม่มีน้ำปริมาณมากเพียงพอในการผลักดันน้ำเค็มได้เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้สัมผัสได้ถึงความเค็มที่สูงกว่าปกติของน้ำประปา จนต้องมีการเตือนถึงผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงที่ต้องระวังการนำน้ำประปาไปใช้ในการอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ พื้นที่ผลผลิตทางการเกษตรก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะสวนทุเรียน จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการ ทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับความเสียหายจำนวนมาก
“ขณะนี้เกิดวิกฤตน้ำแล้ว สะท้อนจากน้ำเค็มรุกที่คุ้งบางกระเจ้าค่าความเค็มสูงถึง 7-20 กรัมเกลือต่อลิตร ใกล้จุดอันตราย หากพืชสวนตายลงการปลูกใหม่ต้องใช้เวลา 5 ปี ต่างจากการทำนาข้าวที่หยุดการปลูกไว้ก่อนได้ เพื่อรอฝนในเดือนพฤษภาคม ที่สำคัญรายได้ภาคกลางอิงกับสวนไม่ใช่อิงกับนา อีกทั้ง ยังพบว่า สถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรสูงขึ้นจากเดิม 30% เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้ประเทศช่วงวิกฤต แต่โอกาสจะหายไปหากเราบริหารจัดการน้ำไม่สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำเปลี่ยนไป เป็นผลจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ผลจากการที่เราไปมองเรื่องกำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุด แทนที่จะมองเรื่องบริหารความเสี่ยง จึงทำให้ความมั่นคงหายไป” ดร.รอยลกล่าว
บริหารน้ำให้เพียงพอความท้าทายของภาครัฐและประชาชน
ปัญหาการบริหารน้ำของประเทศไทยคือ มุ่งที่โครงสร้างขนาดใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบนั่นคือป่าต้นน้ำ และโครงสร้างขนาดเล็กที่กระจายเชื่อมต่อกันเพื่อระบายน้ำ เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่ไทยมีข้อมูลมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยส่วนใหญ่มาจากกว่าภาคเกษตร ทั้งโดยตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร สำหรับคนในเมืองใช้น้ำ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน และคนชนบทใช้น้ำ 80 ลิตรต่อคนต่อวัน อีกทั้ง ยังไม่มีการวางแผนเตรียมรองรับกับการท่องเที่ยว ที่มีการใช้น้ำสูงถึง 1,000 ลิตรต่อคนต่อวัน และหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมักจะใช้น้ำสูงกว่าแผน ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการน้ำทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้น 25% ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและประชาชนในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ
“สถานการณ์ฝนในปี 2564 จะคล้ายคลึงกับปี 2539 ที่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 4 ลูก พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ลูก และภาคใต้อีก 2 ลูก แต่ไม่ได้หนักเหมือนมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งปีนี้ปริมาณฝนของไทยแนวโน้มมีมากขึ้น แต่มีความแปรปรวนสูงขึ้น การเปลี่ยนจากฝนมากเป็นน้อยใช้เวลาสั้นลง รูปแบบเปลี่ยนไปจะตกหนักในช่วงสั้น ๆ แล้วหายไปนานจึงกลับมาตกหนักอีก ทั้งยังเปลี่ยนพื้นที่ไปตกท้ายเขื่อนแทนเหนือเขื่อน โดยการบริหารน้ำระบบเดิมเรามองแค่น้ำต้นทุน ไม่ได้มองความต้องการใช้น้ำ เพิ่งทำข้อมูลใช้น้ำในปี 2558 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับปริมาณน้ำในเขื่อน รวมทั้งความแปรปรวนของฝนที่สูงขึ้น ทำให้ยากต่อการบริหารไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้ง”
4 เขื่อนหลักน้ำน้อยไม่พอทำนาปรัง ห่วงเกิดศึกแย่งน้ำ
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) อธิบายเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดฝนตกน้อยกว่าปกติติดต่อกัน 2-3 ปีต่อเนื่อง รวมถึงฝนตกพื้นที่ที่เปลี่ยนไป โดยตกในพื้นที่ท้ายเขื่อนมากกว่าพื้นที่เหนือเขื่อน โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีฝนตกอยู่ในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนเพียง 36% แต่กลับตกนอกพื้นที่รับน้ำของเขื่อนมากถึง 64% ส่งผลให้น้ำไหลลงเขื่อนมีน้อยลง ซึ่งในภาพรวมทั้งประเทศไทย มีน้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางเพียง 42,620 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี น้อยกว่าความจุของน้ำใช้การที่มีความจุรวม 52,165 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ประเทศไทยกลับมีความต้องการน้ำมากขึ้นถึง 153,578 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 25% ในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น การจะพึ่งพาน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียวคงจะทำให้รอดพ้นภัยแล้งและน้ำท่วมได้ยาก
ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ในวันเริ่มต้นฤดูแล้งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 5,771 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนที่จะต้องเตรียมไว้ประมาณ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องงดการส่งน้ำทำนาปรังในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม.และต้องดึงน้ำมาจากลุ่มน้ำแม่กลองประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. มาเพื่อผลักดันน้ำเค็ม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมมีเพียง 3,884 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งแม้ว่าภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง แต่เกษตรกรกลับทำนาปรังไปแล้วมากกว่า 2.8 ล้านไร่ เกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและตามคลองชลประทาน ทำให้มีน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาหลายแห่งไม่เพียงพอ และเริ่มมีการแย่งน้ำกันแล้ว ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2564 นี้ อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ใช้น้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา รวมทั้งต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบให้ผ่านเดือนมีนาคมนี้ไปให้ได้”
ประเทศไทยจะยังคงมีปริมาณน้ำใช้เพียงพอสำหรับทุกคน หากสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้น้ำอย่างพอดี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ไม่ให้เกิด “วิกฤตน้ำ” ซึ่งหมายถึงวิกฤตชีวิตและเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน