ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล หรือ “กอล์ฟ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญญทรัพย์ จำกัด ที่ดำรงตำแหน่ง ประธาน YEC หอการค้าชลบุรี และ คณะกรรมการสมาคมข้าวถุง ถือเป็นคนหนุ่มที่ยิ่งกว่าอายุน้อยร้อยล้าน เพราะถึงวันนี้เขาเป็นนักธุรกิจอายุน้อยที่ทำธุรกิจแตะหลักหมื่นล้านแล้ว ด้วยหนึ่งสมองสองมือที่ในช่วงแรกของการต่อสู้หลังจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาทั้งปริญญาตรีจาก California State University of Fullerton สาขา Supply Chain Management และปริญญาโท University of La Verne สาขา Management Information System เขากลับเลือกปักหลักต่อยอดธุรกิจขายข้าวสารที่พนัสนิคม แทนที่จะเข้าทำงานเป็นหนุ่มออฟฟิศตามองค์กรใหญ่ ๆ ส่งผลให้สายตาของพ่อแม่ มองเขาอย่างไม่เข้าใจ อีกทั้งญาติและคนรอบข้างมองเขาอย่างดูแคลนด้วยซ้ำ ด้วยความพยายามอย่างหนัก ทำให้ข้าวสารแบรนด์ “ไก่แจ้” เป็นที่รู้จักระดับประเทศได้
จากนั้น เขาขยับต่อด้วยการส่งข้าวต้มมัดนวัตกรรมบรรจุซองพลาสติก แบรนด์ “แม่นภา” ที่เก็บได้นานกว่า 6 เดือนเข้าช่องทาง 7-11 พร้อมด้วยสแน็ตแบบไทยๆ และขยายสู่ตลาดส่งออกทั่วโลก ในนามของ บริษัท ทีอาร์ไทย ฟู้ดส์ จำกัด
ถึงวันนี้ ธีรินทร์ ขยายฐานธุรกิจของตนเองอีกขึ้นสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัย์ที่ชิมรางกันด้วย โครงการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ที่ให้ประสบการณ์ตรงที่แสนแพงกับเขา แต่กลับเป็นคีย์ลัดให้กับ “ธาริต อาร์ต โฮเทล แพร่” โครงการโรงแรม ธุรกิจหลังสุดที่เขาตะครุบอย่างไม่ลังเลและจบโครงการได้อย่างรวดเร็ว
ประสบการณ์กับธุรกิจระดับอำเภอจนไต่ขึ้นหลักหมื่นล้านของ ธีรินทร์ จึงเป็นที่น่าสนใจและทำให้คนทำธุรกิจฉุกคิดได้ นั่นจึงทำให้เขาได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรเพื่อแบ่งปันมุมมองและออกรายการทีวีอยู่บ่อยครั้ง
………….. ………….. ………….. …………..
การเป็นนักเรียนนอกของคุณ แทนที่จะทำงานในออฟฟิศใหญ่ ๆ โก้ ๆ กลับทวนกระแสมาขายข้าวสารที่พนัสนิคม ขายเอง ส่งของเอง ตอนนั้นอินดี้ไปหรือเปล่า
ตอนนั้นก็ได้งานบริษัทแล้วละ แต่ใจเราไม่ได้อยู่กับงาน เราคิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจขายข้างสารที่บ้านขยายตัวได้ อยู่ตัวได้ ตอนนั้น ทั้งพ่อทั้งแม่ ญาติ ๆ ไม่เข้าใจหรอก พวกญาติ ๆ ก็บอกนึกแล้วว่าต้องไม่ได้เรื่อง พ่อแม่เราก็ต้องทนกับคำคนพวกนี้ ผมเองก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า เราคิดยังไง เราต้องการทำอะไร ผมคิดว่า เราไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกไปหาประสบการณ์ เพราะในโรงงานยังมีสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้อีกมากมาย
ผมเชื่อว่า ตอนนั้น เค้านึกภาพไม่ออกหรอก งานแรกที่ผมทำขณะนั้น คือ มองหาสิ่งของที่มีอยู่มาทำประโยชน์ให้มากที่สุด ด้วยการซ่อมแซมรถคันเก่าที่ไม่ได้ใช้งานออกมาขับส่งข้าว จากเดิมที่มีรถแค่คันเดียว ก็กลายเป็น สองคัน แล้วสภาพที่ลูกเถ้าแก่ ขับรถเอง ส่งของเอง แบกข้าวมาส่งด้วยตัวเอง ทำให้ผมถูกมองว่าเกาะพ่อกินคงไปไหนไม่รอด แต่การทำความรู้จักกับลูกค้าเอง ทำให้เราได้ข้อมูลเพื่อมาปรับปรุงสินค้าและบริการอย่างไม่น่าเชื่อ อีกอย่างการที่พ่อผมจะออกมาหายี่ปั๊วก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะต้องเช็กของขึ้นรถและนับเงินสดกันหน้าโรงงาน ทำให้ทิ้งหน้าร้านไม่ได้และไว้ใจใครก็ไม่ได้ จึงต้องอยู่เฝ้าตลอดเวลา
สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจอย่างเช่น ยี่ปั๊วบอกข้าวไก่แจ้นี่ดีนะ ข้าวก็ขายดี แต่ร้านนี้หยิ่ง เวลาของขาดโทรไปสั่ง คนรับสายบอกไปไม่ได้ คือ คนรับสายเป็นลูกจ้าง เขาก็ไม่อยากเพิ่มงานให้ตัวเองก็จะปัดลูกค้าแบบนี้ พอเราไปส่งของเอง ได้คุยกับพวกเขาก็ทำให้เข้าใจกันมากขึ้นและกลับมาค้าขายกันเหมือนเดิม ที่สำคัญ ผมขยายตลาดได้มากกว่าเดิม
ฉะนั้น จะบอก ผมอินดี้หรือติสท์ก็ไม่ใช่ แต่ผมต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของที่บ้าน
ปรับปรุงระบบอะไรมากมายแค่ไหน ที่บ้านรับได้หรือเปล่า
มากกกกกก …. ต้องบอกว่า ที่ร้านข้าวสารของพ่อที่พนัสนิคม ใช้ระบบแบบเดิม คอมพิวเตอร์สักตัวก็ไม่มี เมื่อการค้าเราขยายเพิ่มขึ้นก็ต้องซื้อคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์เพื่อ จัดสต๊อกและคีย์บิล ต้องจ้างคนเพิ่มเพื่อทำหน้าที่ธุรการให้เรา โดยเฉพาะประเด็นการจ้างเสมียน ถ้าออกหรือหยุดงาน ใครจะทำให้ เนื่องจากพ่อก็ทำเองไม่เป็น แล้วใครจะทำ ผมก็บอกว่า ผมจะจ้างพนักงานสองคนให้มาทำตรงนี้ สำหรับ ขาดลามาสายหรือเจ็บป่วย เพื่อให้ได้สลับกันหยุด แล้วถ้าสุดวิสัยจริง ๆ ผมนี่แหละจะมานั่งทำ แล้วการันตีว่าจะไม่มีปัญหาและจะช่วยแก้ปัญหา เรื่องการโกงได้ด้วย เพราะแต่ก่อนเราเก็บเงินใส่ผ้ากันเปื้อน เข้าออกเท่าไหร่ก็ไม่รู้
พอขายดีมาอีกหน่อยก็ต้องจ้างเซลส์เพิ่มก็ทะเลากันอีกว่า ขายดีอยู่แล้ว ทำไมเราต้องจ่ายคอมมิสชั่นเพิ่ม แต่โชคก็ไม่เข้าข้าง เพราะเซลส์คนแรกดันทำผิดพลาด เอาข้าวไปแล้วหายหัวไปเลย แต่ผมก็ยังดื้อจะหาเซลส์ต่อ พอคนที่ 2 คนที่ 3 เข้ามายอดขายก็เติบโตเร็วขึ้น จนตอนนี้โรงงานมีเซลส์ขายข้าวกว่า 100 คน และมีพนักงานกว่า 500 คน
ตอนนั้นต้องทะเลาะกัน ถกกันตลอดเวลา เพราะต้องอย่าลืมพ่อผม (สุนทร ธัญญวัฒนกุล) เถ้าแก่รุ่นเก๋า เกมมากว่า 40 ปี มีตำแหน่งเป็นประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรีและประธานกลุ่มหอการค้าภาคตะวันออก ทำข้าวถุงตราไก่แจ้ขายมาตั้งแต่หนุ่ม แต่ผมมันเด็กเมื่อวานซืน …. ผมก็ต้องพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่า การลงทุนพวกนี้มีประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ความสิ้นเปลืองที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้คุณค่า แต่เป็นสิ่งที่สามารถชี้วัดได้แล้วให้ผลตอบแทนกลับมาหาเราจริงๆ
ผลของการสู้กับธุรกิจข้าวถุง “ไก่แจ้” เป็นอย่างไร ถือว่าน่าพอใจหรือเปล่า
ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของผมและแน่นอนว่า การสู้ครั้งนั้นของผมทำให้พ่อกับแม่มีคำตอบให้กับตัวเองและคนรอบข้างว่า ผมทำอะไร เพื่ออะไร เพราะจากการทำงานทุกหน้าที่ ขับรถ ส่งของและเป็นเซลส์ขายข้าว ผมลุยเองด้วยเสื้อยืดกางเกงขาสั้นแบบตี๋ส่งของเลย ตอนนั้นเรามี โรงงานขนาด 80 ตร.ว. ที่พนัสนิคม จ.ชลบุรีและ มีพนักงาน 20 คน ทำกันมากว่า 30 ปี อยู่แบบไม่โตแต่ก็ไม่ตาย ขายได้ปีละ 10 ล้านบาท ขายกันในละแวกพนัสนิคม ศรีราชาและอ.เมือง ชลบุรีนั่นละ
แต่หลังจากลุยงานกัน 10 ปี ทำตลาดโอบจากต่างจังหวัดเข้ามาก่อนค่อยทำตลาดที่กรุงเทพฯ และสร้างแบรนด์ไก่แจ้อย่างจริงจังด้วยบิลบอร์ด บัสไซด์ เจาะตลาดด้วยหน่วยรถ เพื่อเน้นการเข้าถึงพื้นที่และผู้บริโภค เพื่อให้คนรู้จักแบรนด์ไก่แจ้ จากการที่เราทำตลาดทั่วประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มียอดขายที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 1,000 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันโรงงานของผมก็ขยับขยายขึ้นในพื้นที่กว่า 100 ไร่ และเราดำเนินกิจการในรูป บริษัท สุนทรธัญญทรัพย์ จำกัด ด้วยจุดขายสำคัญ คือ การใช้พันธุ์ข้าวดีและการพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างต่อเนื่อง เรามีข้าวทุกเซ็กเม้นท์ทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เพียงแต่ตลาดใหญ่ของข้าวบรรจุถุงคือ ข้างหอมมะลิและข้าวเสาไห้ ส่วนข้าวไรซ์เบอรี่นั้นทีฮิต ๆ กันนั้น ตลาดเล็กมาก ไม่ถึง 1% ของตลาดรวมด้วย
แล้วการขยับมาทำข้าวต้มมัดและขนมขบเคี้ยว “แม่นภา” นี่แปลว่าการทะเลาะกับพ่อนั้นเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งหรือเปล่า
(หัวเราะ) ไม่ใช่อย่างนั้น เพื่อนผมหลายคนเขามีความสามารถนะ แต่กลัวพ่อ ไม่กล้าเถียงพ่อ แต่ผมไม่กลัว เอาเหตุผลไปยันกัน อะไรดีเอาไว้ บางอย่างมันใช้ไม่ได้กับปัจจุบันผมก็ไม่ยอม บ้านเราดีอย่าง ทะเลาะกันแล้วไม่มีความรู้สึก งานคืองาน นอกจากนั้นโอเค ไม่ใช่ทะเลาะกันแล้วไม่มองหน้า กินข้าวไม่คุย แบบนั้นไม่มี
สำหรับแบรนด์ “แม่นภา” มาจากชื่อแม่ผมเอง กว่าจะออกมาอย่างที่เห็นขายใน 7-11นั่นเราทดลองทำแล้วทิ้งกันเป็นแบทช์ (Batch) เพราะในการผลิตครั้งนึงต้องมีปริมาณพอสมควร ยอมรับว่าท้อเหมือนกัน กว่าจะปรับสูตรได้และพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตข้าวต้มมัด จนสามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือนกว่า โดยไม่ต้องแช่เย็น “ไร้สารกันบูด” รับประทานง่าย ไม่เลอะมือ ทำให้คนไทยในต่างแดนและคนต่างชาติได้ลิ้มรสขนมไทยที่อร่อยไม่แพ้ขนมชาติใดเลย ซึ่งข้าวต้มมัดนี้ก็ทำให้เราได้รับรางวัลสินค้านวัตกรรมด้วย สำหรับข้าวต้มมัดผมภูมิใจว่า เราสามารถเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบและรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลือง จากราคาถั่วเหลืองธรรมดา 18-20 บาท/กก.ใหเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าและสามารถสร้างยอดขายตลอด 3 ปีได้กว่า 180 ล้านบาท
ส่วนขนมขบเคี้ยวก็แตกไลน์ตามปกติและเป็นไลน์ที่ออกได้ก่อนข้าวต้มมัด เพราะไม่ได้ซับซ้อนอะไรเท่ากับไลน์ของข้าวต้มมัด
การกระโจนสู่ธุรกิจโรงแรม Taris Art Hotel ที่แพร่ คือ สัญญาณบอกว่า อยากเปลี่ยนแนวที่เฟี้ยวกว่าหรือเปล่า
ไม่ขนาดนั้น แต่ความจริงผมชอบลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ประกอบกับจังหวะอำนวยมากกว่า จริงๆ คือ ผมไม่เคยไปแพร่มาก่อนเลยในชีวิต แต่ตอนนั้นมีคนรู้จักมาเสนอขายโรงแรมนครแพร่ โรงแรมเก่าแก่ของจังหวัดที่ก่อตั้งมาแล้วกว่า 30 ปี ตอนนั้นผมแอบคิดเลยว่า แพร่นี่ไม่ได้อยู่ในสารบบของการท่องเที่ยวด้วยหรือเปล่า แม้แต่ผมเองก่อนหน้านี้ยังไม่คิดจะไปด้วยซ้ำ แล้วจะทำโรงแรมนี่นะ
แต่ด้วยราคาที่บอกขายนั้นสำหรับผม ผมคิดว่าไม่แพง เพราะราคานี้ผมแทบจะลงทุนซื้ออะไรไม่ได้ด้วยซ้ำใน จ.ชลบุรี แล้วเมื่อผมเดินทางไปกับภรรยา ต้องยอมรับว่า หลงเสน่ห์เมืองนี้ที่ยังเวอร์จิ้นเอามาก ๆ
ทั้งความสโลว์ไลฟ์ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เสน่ห์เมืองเก่า ผู้คน ความสวยงามของบ้านเรือน อารยะธรรมเก่าแก่ วัด สำคัญอย่างพระธาตุช่อแฮ ซ้ำยังเป็นหนึ่งใน “12 เมืองต้องห้าม (พลาด) พลัส” ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สะท้อนถึงศักยภาพความเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งใหม่อีกด้วย แล้วเมื่อมองในมุมนักลงทุนบวกกับประสบการณ์เดิมที่เคยทำเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์มาก่อน ผมก็คิดว่าน่าจะลองดู
ประสบการณ์อะไรจากการทำเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ที่คิดว่าจะช่วยธุรกิจโรงแรม
เมื่อหลายปีก่อน ผมซื้ออพาร์ทเมนท์เก่าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครมารีโนเวท แล้วปล่อยเช่าให้กับหนุ่มสาวโรงงานเช่า ที่นี่ถือเป็นโรงเรียนที่ดีสำหรับผม เพราะลงทุนแพงมาก นานมาก สำหัสสำหรับผมเหมือนกัน ตอนก่อสร้าง ผมก็ลงมาคุมก่อสร้างเองทำให้ช้ามากเพราะนี่ไม่ใช่วิถี!!
แล้วที่นี่ทำให้ผมเรียนรู้ว่า การอยู่ในทำเลดี ๆ ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ผมก็มโนไปว่า สร้างเสร็จ ลูกค้าคงเต็ม สบายแน่ๆ แต่ไม่ใช่ – เปิดมา 2-3 เดือนแรก แทบไม่มีลูกค้าเลย สุดท้ายอยู่ไม่ไหว
ต้องเริ่มหาทีมขายเข้ามาช่วยและเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังหลังจากนั้นก็ดีขึ้น ผมก็ขยายทำเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์เพิ่มเติมอีกที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง โดยการใช้คอนเซ็ปท์เดิมคือซื้ออพาร์ทเมนท์เก่ามารีโนเวทใหม่ เจาะกลุ่มคนทำงานไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยว โดยมีขนาดราวๆ 250 ห้องพัก ปล่อยเช่าทั้งรายวันและรายเดือน คิดค่าเช่าประมาณ 4,000 – 5,000 บาท/เดือน
ต้องบอกว่า ประสบการณ์การบริหารเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ที่ชื่อ “ราชา เรสซิเดนซ์ ศรีราชา” ที่ผมให้บริการแบบโรงเรียน 4 ดาว จำนวน 104 ห้อง สำหรับลูกค้ารายเดือนก็มีราคาเริ่มต้นสำหรับเล็ก 2 หมื่บาทและห้องใหญ่ปล่อยเช่าได้สูงถึง 6-7 หมื่นบาท ที่นี่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในศรีราชาและคนกลุ่มนี้ละที่ทำให้ผมได้วิชาจริงๆ เพราะคนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องเจ้าระเบียบ เป๊ะ ถ้าดูแลลูกค้าญี่ปุ่นได้ ชาติอื่นก็ง่ายหมด ซึ่งเป็นความจริง
ถึง Taris Art Hotel เลยง่ายแล้วและมั่นใจว่าไปได้แค่ไหน
ง่ายเลย เพราะจากเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ที่ผมไปโน่นนี่ทำเอง ทำให้ผมเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง จากการก่อสร้างที่ใช้เวลาตอนนั้นปีกว่ามาทำโรงแรมนี้ผมใช้เวลา 4เดือนจบ เสร็จและสวยงามตามที่หวัง
สำหรับการทำธุรกิจโรงแรมครั้งนี้ ผมเชื่อว่าไปได้ดี เพราะทั้งขนาดของโรงแรมที่มีห้องพัก 100 ห้องกับทำเลที่อยู่ในเขตเมืองเก่าบน ถ.ราษฎร์ดำเนินใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้แขกที่มาพักสามารถชมเมืองเก่า วัดโบราณและไหว้พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของแพร่ได้ แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวที่แพร่ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 10% มีเที่ยวบิน 2 ไฟลท์ต่อวัน การเดินทางก็สะดวกสบาย ที่ผมมั่นใจอีกประการคือ โรงแรมในจังหวัดนี้ส่วนมากจะเน้นตกแต่งแบบล้านนา แต่ผมต้องการฉีกแนว จึงเลือกทำโรงแรมเป็นสไตล์ Modern Contemporary Classic แห่งแรกและแห่งเดียวใน จ.แพร่ และตั้งเป้าที่จะทำให้โรงแรมแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดแพร่ให้ได้
แต่ทั้งนี้ ก็ต้องบอกเพิ่มเติมว่า การเป็น Modern Contemporary Classic ของเราไม่ได้หมายความว่า เราปฏิเสธมนต์เสน่ห์ของจังหวัดแพร่ เราน้อมรับมนต์เสน่ห์นี้ด้วยความเคารพและอยู่ร่วมกับมรดกทางประเพณีวัฒนธรรมของแพร่อย่างกลมกลืน อีกทั้งพร้อมสะท้อนและไฮไลท์ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นด้วย อย่างใช้ภาพศิลปะสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ มาประดับตรงทางเดิน การคงเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าไว้ในห้องพัก เพื่อสะท้อนถึงเมืองแพร่ที่เป็นแหล่งค้าไม้ในสมัยโบราณ แล้วก็มีแผนที่จะเปิดพื้นที่ให้ศิลปินท้องถิ่นได้มาจัดแสดงผลงานศิลปะฟรีอีกด้วย
มองอนาคตของ “ไก่แจ้ – แม่นภา – ธาริส” อย่างไร
ผมมองว่าเป็นสามธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน “ไก่แจ้” คือสัตว์เลี้ยงพ่อผมชอบ ผมเองก็สืบทอดธุรกิจข้าวของพ่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนแล้ว ส่วน “แม่นภา” ที่มาจากชื่อแม่ของผมก็คือครัวที่เสิร์ฟของว่างให้กับคนไทยทั้งในประเทศไทย ต่างประเทศและคนเอเชียด้วยกัน
ส่วน “ธาริส” (TARIS) นั้นมีที่มาจากตัวอักษรแรกของสมาชิกทุกคนในครอบครัว และถือเป็นธุรกิจในรุ่นผมและจะเป็นชื่อเชนโรงแรมที่ผมตั้งใจจะปั้นต่อไป หากว่ามีโอกาสได้ลงทุนเพิ่มเติมอีก ผมมีนโยบายซื้อมาแล้วมารีโนเวท – ใส่ไอเดียเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ที่สำคัญ ผมเน้น “ซื้อเก็บและให้เช่า” มากกว่าจะขายทำกำไร เพราะสินทรัพย์ทุกรายการที่ได้มาเกิดจาก “ความชอบ” แล้วผมก็อยากรักษาให้เป็นของครอบครัวและทายาท
สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าที่มีถึงวันนี้ เพราะเรามีฐานที่ดีจากครอบครัว สร้างจากฐานตรงนี้ออกไปแล้วขยับขยายต่อออกไปให้ได้มองสามธุรกิจนี้ให้เชื่อมโยงกัน แล้วใช้การตลาด ใช้ไอเดีย ใส่กลยุทธ์ รู้และดูจังหวะก้าว จังหวะรุกและอย่ามองข้ามความเห็นของพ่อแม่ซึ่งบุกเบิกธุรกิจมาก่อน เพราะเราก็ยังได้รับมุมมองที่ดี ๆ อยู่จากคนรุ่นนี้ที่มีความสุขุมรอบคอบมากกว่า