รวมพลังคนต่าง GEN ร่วมหาแนวทางสร้างโลกยั่งยืนด้วย Circular Economy

เอสซีจีเปิดเวที SD Symposium 2020 Circular Economy: Actions for Sustainable Future รวมพลังคนต่างวัยจากหลายมุมมองทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระดับโลก ภาคการเกษตร ธุรกิจ SME และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในแบบตัวเองสู่เป้าหมายความยั่งยืนของโลกร่วมกัน 
 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่ส่งผลต่อทรัพยากร รวมถึงในช่วงต้นปีที่โลกเจอปัญหา COVID-19 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบ New-Normal มีการใช้สิ่งของที่ก่อให้เกิดขยะมากขึ้น Circular Economy หรือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

เอสซีจี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมองเห็นความจำเป็นในการชักชวนทุกคนให้มามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดงาน SD Symposium 2020 มีกลุ่มพันธมิตรที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างรวดเร็ว จาก 45 รายในปีที่ผ่านมา เป็น 180 ราย โดยปีนี้ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นทางออกแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตร การบริหารจัดการขยะ และ เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) คือการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งชีวภาพ การหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการใช้งานและบริโภค ด้านการจัดการขยะหรือของเสีย และด้านการใช้วัตถุดิบรอบสอง

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในธุรกิจเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ Jacob Duer ประธานกรรมการและผู้บริหาร Alliance to End Plastic Waste (AEPW) กล่าวว่า Alliance to End Plastic Waste หรือ พันธมิตรเพื่อยุติขยะพลาสติกที่มีสมาชิกมากกว่า 50 บริษัทเพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในการแก้ปัญหาขยะระดับโลก โดยเครือข่ายจะทำงานร่วมกับไทยในโครงการ PPP Plastic เพื่อช่วยจัดการขยะพลาสติกด้วย 

ขณะที่ Robert Candelino ผู้บริหาร Unilever Group of Thai Companies and Inland ASEAN กล่าวว่า Unilever นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนปรับใช้กับการทำธุรกิจ โดยมีเป้าหมายภายในปี 2568 จะมีการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ 100% และลดการใช้ Virgin Plastic ลง 50%

นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนต้นแบบ ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ เยาวชนต้นแบบ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ว ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจเรื่องการจัดการขยะจากหนังสือ “The Story of Stuff” จุดเริ่มต้นของการสร้าง Mission: To Green เพื่อลดการใช้พลาสติกและการจัดการขยะในชีวิตประจำวัน

การจัดงาน SD Symposium 2020 ในปีนี้ยังมีความพิเศษด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นทางออกแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้าน โดยมีสมาชิกมากกว่า 200 คนร่วมระดมสมองเพื่อเสนอแนวทางแก้ไข

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง แนวคิดเรื่อง “การจัดการน้ำหมุนเวียน” ซึ่งเป็นทางออกสำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อใช้น้ำต้นทุนที่น้อยให้คุ้มค่า พร้อมเสนอ 2 แนวทาง ได้แก่ การขยายความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชน และการกระตุ้นให้เกิดการขยายผลรวดเร็วขึ้นโดยอาศัยการสนับสนุนของภาครัฐ 

ขณะที่ บุญมี สุระโคตร ประธานเครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่ระดับประเทศ มองว่าสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตร คือการพัฒนาเกษตรกรด้วยการเสริมทักษะที่ยังขาด เช่น การนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างเกษตรกรต้นแบบแต่ละตำบล

นนทิกานต์ อัศรัสกร นักธุรกิจ Next Gen ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ลฤก”พวงหรีดเสื่อ มองว่าคนรุ่นใหม่ยังขาดความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หากเปลี่ยนจากมุมมองว่าพลาสติกเป็นขยะ เป็นการนำมาใช้ประโยชน์ซ้ำ ๆ เช่น รีไซเคิลเพื่อทำเสื่อและต่อยอดเป็นพวงหรีดทำให้ไม่เกิดเป็นขยะหลังการใช้งาน ในส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้าง 

ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า โดยทั่วไปขยะจากการก่อสร้างคิดเป็น 20-25% ของวัสดุที่ใช้ การแก้ปัญหาควรเริ่มที่ต้นทางด้วยการออกแบบไม่ให้มีเศษวัสดุเหลือทิ้ง ขณะที่ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างควรมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนเอง 

ในส่วนของภาครัฐ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ภาครัฐมีแนวทางสนับสนุนในหลายเรื่อง เช่น มีสิทธิพิเศษทางภาษี ปรับกฎหมายให้มีความสอดคล้อง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ