กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) และ ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) เปิดตัวแพลตฟอร์ม Open API ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ด้วยความมุ่งมั่นของธนาคารในการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าและพันธมิตร โดยแพลตฟอร์ม Open API ที่พัฒนาโดยไอบีเอ็ม เซอร์วิสเซส จะนำสู่ประสบการณ์ Banking-as-a-service (BaaS) ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา เอื้ออำนวยให้กรุงศรีและระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ของธนาคารสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างง่ายดาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างโมเดลธุรกิจต่างๆ รวมถึงการนำแนวทางการทำงานใหม่ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นที่สาขา เครือข่ายตู้เอทีเอ็ม บริการผ่านโมบายแบงก์กิ้งหรือบริการจากพันธมิตรภายนอก
เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งให้ธุรกิจทุกกลุ่มต้องเดินหน้าสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างเร่งด่วน นับจากนี้ไป เส้นทางการให้บริการลูกค้า ตั้งแต่การเปิดบัญชี การออกบัตร การชำระเงิน การทำประกัน หรือการซื้อขายหลักทรัพย์ ต้องเป็นบริการที่อยู่บนพื้นฐานของตำแหน่ง (Location-based Services) แบบไร้รอยต่อ สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความชอบและวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ร้านค้าปลีก ผ่านผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ หรือบริษัทประกันก็ตาม ซึ่งแพลตฟอร์ม Open Banking API จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง”
แพลตฟอร์ม Open API ถือเป็นหมากสำคัญที่จะนำสู่การสร้างระบบที่แข็งแกร่ง ปลอดภัย และเชื่อมต่อง่าย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของระบบนิเวศทางธุรกิจของพันธมิตรของกรุงศรี ทั้งนี้ กรุงศรีดำเนินการตามกลยุทธ์เรื่องเงิน เรื่องง่าย เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ ประกันชีวิต หรือการวางแผนเกษียณ ได้ง่ายๆ แค่เพียงปลายนิ้ว โดยกรุงศรีและพันธมิตรจะสามารถส่งใบเสนอราคา ข้อเสนอบริการ และรายการประเมินต่างๆ ให้ลูกค้าได้ถึงบ้านโดยตรงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ลูกค้ากรุงศรียังสามารถวางใจไปกับมาตรฐานระดับโลก ทั้งในด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแลและกฎข้อบังคับ รวมถึงเทคโนโลยีโอเพนซอร์สระดับโลกที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม OpenShift ของเร้ดแฮท
ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า “ไอบีเอ็มภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรระยะยาวที่ได้รับความไว้วางใจและให้การสนับสนุนกรุงศรีมาอย่างต่อเนื่อง ในการวางรากฐานเพื่อรองรับการก้าวย่างแห่งอนาคตและการก้าวสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน แพลตฟอร์ม Open Banking API จะสร้างความยืดหยุ่นและคล่องตัวให้แก่กรุงศรี รวมถึงเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยความท้าทายอันเนื่องมาจากโควิด-19 ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ กำลังทำให้แพลตฟอร์มนี้ทวีความสำคัญยิ่งกว่าครั้งไหน”
วรนุช เดชะไกศยะ ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและปฏิบัติการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การเป็นพันธมิตรกับไอบีเอ็มบนแพลตฟอร์ม Open API ทำให้ทั้งกรุงศรีและพันธมิตรของเราสามารถเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน อันเป็นผลมาจากการลดรูปแบบการทำงานแบบเดิมที่มีความซับซ้อน และการปรับเปลี่ยนกระบวนการทั้งหมดให้มีมาตรฐานเดียวกัน เทคโนโลยีแบบเปิดและแพลตฟอร์ม API เป็นรากฐานสำหรับระบบไฮบริดคลาวด์และ AI ที่จะขับเคลื่อนอนาคตของอุตสาหกรรมธนาคาร และจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของเราไม่เพียงเฉพาะในปัจจุบัน แต่ต่อเนื่องไปถึงอีกหลายปีข้างหน้า”
ที่ผ่านมา สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงยึดปฏิบัติตามแนวทางแบบเดิม ซึ่งเป็นการทำงานแบบไซโลหรือแยกส่วนงานตามผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ก่อให้เกิดเป็นภาระทางเทคนิคมากมายที่สั่งสมนานหลายปี เห็นได้ชัดจากรูปแบบโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อนและมีการปรับสำหรับการใช้งานที่เฉพาะตัวมากๆ รวมถึงกระบวนการและข้อมูลที่ขาดมาตรฐาน ปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการก้าวสู่การพัฒนาระบบดิจิทัลและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่มีความรวดเร็ว หรือการประมวลผลแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีผลต่อประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้า ความเร็วในการนำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ออกสู่ตลาด ต้นทุนการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงในด้านการส่งมอบบริการและการดำเนินงาน
การปรับปรุงและพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ช่วยยกระดับกรุงศรีในการเดินทางสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการสร้างนวัตกรรมและประสบการณ์ของลูกค้าที่ดีขึ้นไปอีกขั้น ตอกย้ำความเป็นผู้นำของกรุงศรีในธุรกิจดิจิทัลแบงก์กิ้ง