เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในช่วงฤดูฝนปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกอยู่ในเกณฑ์น้อยและไม่เพียงพอสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยองที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดสรรน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งระบบในพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูแล้ง (1-25 มีนาคม 2563) ที่ผ่านมา ชาวลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรีมีความเอื้อเฟื้อแบ่งปันน้ำช่วยเหลือประชาชนใน จังหวัด ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยยินยอมให้กรมชลประทานสูบน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนดปริมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. เติมลงสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง โดยกรมชลประทานได้ปรับปรุงคลองส่งน้ำ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ รวมทั้งปรับแผนลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ส่งไปจังหวัดชลบุรี โดยใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร 10 ล้าน ลบ.ม. ผันมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อส่งให้ผลิตน้ำประปาในจังหวัดชลบุรี ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านไปได้ด้วยดี
เพื่อเป็นการขอบคุณในน้ำใจให้กับชาวลุ่มน้ำคลองโตนด จังหวัดจันทบุรี กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้ประสานผู้ใช้น้ำจากภาคเอกชน ให้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการคืนสู่สังคมต้นน้ำ(ผันน้ำวังโตนด-ระยอง CSR ) โดยในส่วนของอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินการจัดซื้อท่อพีวีซี เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำวังโตนด ส่งไปยังสระน้ำสาธารณห้าเหลี่ยม ตำบลทุ่งเบญจา ระยะความยาวประมาณ 700-1,000 เมตร สำหรับให้ประชาชนโดยรอบใช้ทำการเกษตร(สวนผลไม้) และอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้รับความร่วมมือจากบริษัท อีสต์วอเตอร์ฯ ทำการก่อสร้างระบบสูบกลับน้ำชั่วคราว จากคลองสะพานไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ประมาณวันละ 50,000 – 170,000 ลบ.ม. สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ ได้อย่างเพียงพอจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ปรับแผนโครงการก่อสร้างระบบสูบกลับคลองสะพานมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่เดิมมีแผนจะดำเนินการในปี 2564 นำมาดำเนินการให้เร็วขึ้นในปี 2563 เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ไว้ใช้ในปีถัดไป
ภายใต้แผนงาน “RID No.1 Express 2020” กรมชลประทานกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำต่างๆ ในพื้นที่EEC ให้สอดคล้องกันทั้งระบบ ประกอบด้วย เร่งปรับปรุงเเหล่งน้ำเดิม 7 แห่ง เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ 4 แห่ง สูบกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง การป้องกันน้ำท่วม 4 แห่ง พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งใหม่ 4 แห่ง ในลุ่มน้ำวังโตนด ( อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด )ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำเป็นน้ำต้นทุนหล่อเลี้ยง EEC ได้อย่างเพียงพอ
เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กรมชลประทานได้ ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านน้ำ และส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ณ สถานีสูบน้ำบ้างวังประดู่ ตำบลสามพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างนายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 และ ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญคือ สูบผันน้ำส่วนเกินที่ไหลทิ้งทะเลในคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี มาเก็บในอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง เพื่อสำรองน้ำเฉพาะกิจฤดูฝน ปี 2563
โครงการผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไปยังแหล่งเก็บกักน้ำจังหวัดระยอง (คลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์) เกิดจากแรงผลักดันของ ชุมชนท้องถิ่นที่ต้องการให้พื้นที่มีความมั่นคงด้านน้ำ มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ สามารถแบ่งปันน้ำระหว่างจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดระยองได้ จึงขอให้ภาครัฐเร่งผลักดันโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยกันเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ ให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงาน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานอนุกรรมการ จึงมอบหมายให้กรมชลประทานวางแผนการพัฒนาและบริหารการจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อทุกภาคส่วนเพื่อรองรับฤดูแล้งปี 2563/64 ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
คณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรียินยอมให้กรมชลประทานสูบผันน้ำส่วนเกินที่ไหลทิ้งทะเลในคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี จำนวน 320 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มาเติมอ่างประแสร์ ผ่านคลองพะวาใหญ่ แก่งหางแมว และวังโตนด ในช่วงฤดูฝน (กันยายน-ตุลาคม 2563 )โดยมีเงื่อนไขว่าระดับน้ำในคลองต้องอยู่ที่ ระดับบวก 16 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.) หากต่ำกว่าต้องหยุดสูบ และห้ามระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำปะแกต ลงมาอย่างเด็ดขาด ยกเว้นกรณีพร่องน้ำรับฝนที่คาดการณ์จะตกทำให้น้ำล้นอ่างฯเกินควบคุม
การดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งผลดีต่อทุกฝ่ายไปพร้อมกันเพราะจังหวัดจันทบุรีสามารถป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดอันเกิดจากน้ำส่วนเกินที่จะไหลลงสู่แม่น้ำวังโตนดและลดการสูญเสียน้ำดิบลงสู่ทะเล ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำได้สูงสุด และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และใกล้เคียง
ด้านจังหวัดระยอง เมื่อผันน้ำส่วนเกินที่ไหลลงสู่แม่น้ำวังโตนด มาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำประแสร์ ทำให้มีปริมาณน้ำสำรองเพิ่มขึ้น เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม รองรับแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำให้เบาบางลง นำความผาสุกและความมีเสถียรภาพมั่นคง ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจสู่ประชาชนในภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน