ชุมชนบางซื่อตื้นตันได้บ้านใหม่ เป็นต้นแบบชุมชนเมืองเข้มแข็ง

ชุมชนบางซื่อ ตื้นตันได้พลิกชีวิตกับบ้านใหม่ พร้อมคุณภาพชีวิตที่ดีที่มาพร้อมทะเบียนบ้าน มีน้ำ – ไฟอันเป็นผลจากความสามัคคี มีวินัย ออมเงินสร้างบ้านพร้อมสัญญาจะพัฒนาเป็นสวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุงและบึงน้ำสวนสาธารณะเป็นแก้มลิงและปอดให้คนเมือง พร้อมขอบคุณภาครัฐ – เอกชนที่สร้างกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมพึ่งพาตนเองและก้าวสู่การเป็นชุมชนเมืองเข้มแข็ง

‘บึงบางซื่อ’ บึงขนาดใหญ่กลางกรุงในเขตบางซื่อ แล้วเมื่อเปิดภูมิทัศน์ให้เห็นทัศนียภาพของบึงและความเป็นอยู่ของชีวิตที่อยู่ริมน้ำจากฝั่งตรงข้าม เรียกว่า ‘วิวหลักล้าน’ ไม่ผิดแน่นอน จากประวัติการก่อตั้งเอสซีจีอันมาเนื่องมาจากวิสัยทัศน์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องพึ่งพาตนเองเพื่อความยั่งยืน จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘โรงงานผลิตปูนซิเมนต์ไทย’ ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก นั่นคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัดสินใช้ โดยเปิดดำเนินการที่โรงงานปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ เป็นแห่งแรกในปี 2458 และมีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาสร้างความเจริญให้กับประเทศ ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ไทยรายเดียวของประเทศไทยในขณะนั้น ทำให้ประเทศไทยมีปูนซีเมนต์ที่ผลิตเอง ไม่ต้องนำเข้าจากยุโรป และใช้เป็นวัตถุดิบที่ใช้สร้างสถานที่สำคัญของประเทศมากมาย อาทิ สถานีรถไฟหัวลำโพง สะพานพระรามหก โรงแรมดุสิตธานี หรือจะเป็นย่านสถานที่สำคัญที่ก่อสร้างด้วยปูนซิเมนต์ อาทิ ถนนราชดำเนิน เป็นต้น

ทั้งนี้ วัตถุดิบหลักหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานบางซื่อมาจาก ‘บึงบางซื่อ’ ซึ่งเป็นแหล่ง ‘ดินดำ’ที่สำคัญ โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัดสินใช้ เริ่มขุดดินดำจากบึงบางซื่อเป็นวัตถุดิบ ตั้งแต่ปีก่อตั้งในปี 2458

ดังนั้น ‘บึงบางซื่อ’ จึงถือเป็นพื้นที่ที่มีภูมิหลังที่สำคัญกับเอสซีจีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญอันเป็นรากฐานในการสร้างความเจริญให้กับประเทศเป็นระยะเวลาถึง 105 ปี

การที่คนในชุมชนไม่มีทะเบียนบ้านเป็นของตนเองย่อมไม่สามารถขอน้ำ – ไฟมาใช้ในครัวเรือนได้ ไม่มีสิทธิ์ส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน คนในชุมชนใช้น้ำจากบึงบางซื่อและรองน้ำฝนใช้เมื่อฝนตก ส่วนแสงสว่างก็พึ่งเทียนไข ฯลฯ สำหรับที่อยู่อาศัยในช่วงที่เอสซีจีเข้าไปสำรวจนั้นคงเรียกว่า ‘บ้าน’ ไม่ได้ เพราะเมื่อฝนตกฟ้าร้องบ้านที่พักอาศัยก็ไม่คุ้มฝน ด้วยว่า หลังจากรั่ว หรือบางบ้านก็หนักขนาดที่สังกะสีกลวงจนเห็นฟ้าด้านบนอย่างชัดเจน

บึงบางซื่อ ซึ่งเคยเป็นแหล่งดินดำแห่งนี้  เอสซีจี ได้ใช้พื้นที่ขอบบึงสร้างเพิงพักคนงานและและครอบครัว รวมถึงพนักงานที่เฝ้าเครื่องจักร ได้อยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้ จึงถือกำเนิดเป็น “ชุมชนบึงบางซื่อ” นับแต่นั้นเป็นต้นมา ภายหลังจากเลิกใช้งานบึงบางซื่อช่วงประมาณปี 2511 ชุมชนดั้งเดิมก็คือครอบครัวคนงานที่เคยทำงานกับเอสซีจียังคงอยู่อาศัยต่อสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งมีคนต่างถิ่นทั้งในกทม.และต่างจังหวัดอพยพเข้ามาอยู่จนขยายตัวเป็นชุมชนใหญ่ มีสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัด ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้ อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา การจัดการขยะมูลฝอย รวมทั้งถนนเข้าออก กลายเป็นปัญหาสังคมทั้งด้านความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ การศึกษา งานประจำ และเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา นี่จึงเป็นที่มาของ ‘โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ’

บึงบางซื่อมีพื้นที่ทั้งหมด 61 ไร่ เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ 53 ไร่ เป็นที่ดินขอบบึง 8 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตาบอด ไม่มีทางเข้าออกของตนเอง สภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมทั้งปัญหาขยะและน้ำเน่าเสีย มีชุมชนอาศัยอยู่ประมาณ 250 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,300 คน แบ่งเป็น 5 ชุมชนหลัก คือ ชุมชนบ้านยาว ชุมชนบ้านยาม ชุมชนบ้านสวน  ชุมชนบ้านโขดขาว  และชุมชนริมน้ำมั่นคง

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เผยถึงที่มาของ’โครงการฯ ว่า

“เอสซีจีได้ร่วมกับภาครัฐ – เอกชน – ชุมชน เพื่อทำ ‘โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ’ ประมาณกลางปี 59 โดยได้รับคำแนะนำจาก พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในขณะนั้นให้นำแนวทางของสานพลังประชารัฐมาใช้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพลิกฟื้นพื้นที่บึงบางซื่อจากพื้นที่เสื่อมโทรมชุมชนแออัดสู่การเป็นสังคมคุณภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่สอดรับกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน ที่ต้องการมีพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้แนวคิดการออกแบบภายใต้บริบท ‘คน วิถีชีวิต อาชีพ และความต้องการของส่วนรวม’ และมุ่งหวังให้เป็นโมเดลตัวอย่างการ ‘พลิกฟื้น’ ชุมชนต้นแบบสานพลังประชารัฐเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยได้มีการแบ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ภาครัฐผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย

  • สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อให้ชุมชนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน 
  • สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนับสนุนงบ 200 ล้านบาทเพื่อช่วยเติมเต็มให้ชุมชนได้บ้านที่เสร็จสมบูรณ์ มีสวนและพื้นที่ส่วนกลาง รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อนุญาตให้เช่าที่ดินเป็นทางเข้า/ออก
  • สำนักงานเจตจตุจักร ประสานความ่วมมือด้านการก่อสร้าง
  • ธนาคารออมสิน สนับสนุนงบ 5 แสนบาทในการก่อตั้งวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์
  • กรมธนารักษ์ สนับสนุนงบ 2 แสนบาทพัฒนาอาชีพและรับมอบดูแลที่ดินจากเอสซีจี เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับชุมชนต่อไป

          

 ปัจจุบัน โ’โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ’ พัฒนาพื้นที่เฟส 1 สำเร็จแล้ว มีที่พักอาศัยรวม 197 ยูนิต ประกอบด้วยทาวน์เฮ้าส์ 60 หลังที่ชุมชนเข้าอยู่แล้ว พร้อมบ้านผู้สูงอายุและไม่มีรายได้ 4 ยูนิต ส่วนอาคารชุด 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ยูนิต คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 1/64

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในพิธี ‘มอบบ้านใหม่’ ให้ชุมชนบึงบางซื่อตามโครงการสานพลังประชารัฐ ว่า 

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อดูแลให้ประชาชนทุกคน ทุกระดับอาชีพและรายได้ ทั้งนกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตามแผนแม่บทแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ริมบึงต่างๆ นั้นในกทม. ยังมีหลายคลอง ซึ่งจะต้องทยอยพัฒนา อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี จากการพัฒนาภายในระยะเวลาเพียง 4 ปีและเป็นการพัฒนาโครงการตามรอยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกพืชสวนครัว เพื่อใช้บริโภคและหากเกินต้องการก็สามารถแจกจ่าย หรือขายเพื่อเพิ่มพูนรายได้อีกด้วย และอาจเป็นไปได้ที่จะเลี้ยงปลาในกระชังในบึงบางซื่อ ซึ่งจะเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกให้คนในชุมชนและเป็นรายได้เสริมอีกด้วย”

 สำหรับปัจจัยความสำเร็จของโครงการฯ นั้น รุ่งโรจน์กล่าวว่า มาจากการสร้างสังคมแบบมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเอง โดยการมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการของชุมชนนับแต่ 1) การยืนยันสิทธิ์ร่วมโครงการเพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรม 2) สร้างวินัยการออมเพื่อเป็นเจ้าของบ้าน 3) ร่วมกันคิด/ออกแบบให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต เช่น ร่วมจัดโซนนิ่ง พักอาศัยตามกลุ่มชุมชนเดิม เพื่อรักษาโครงสร้างและความผูกพันทางสังคมเดิม และเครือญาติไว้, ร่วมออกแบบบ้านที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครัวเรือน และจัดวางผังบ้านให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องทำเล การประกอบอาชีพ และข้อจำกัดส่วนบุคคล จึงทำให้มีที่อยู่อาศัยทั้งแบบอาคารชุดและบ้านพื้นราบ  ฯลฯ 4) กำหนดกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน 5) ร่วมกันดูแลความสะอาดและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งการมีส่วนร่วมทำให้ชุมชนเปลี่ยนทัศนคติ มีความเอื้ออาทรต่อกัน เสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งเอสซีจีเชื่อมั่นว่า ชุมชนจะมีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุง ดูแลบึงน้ำ สวนสาธารณะใหสะอาด สวยงาม รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นๆ ในอนาคต