ภายใต้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบทุกมิติของโลก เศรษฐกิจ การเงิน สังคม วิถีชีวิต ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า แม้หลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลาย นักวิเคราะห์ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ‘โลกจะไม่เหมือนเดิม’ บางอย่างจะเปลี่ยนไปจากเดิมอัน สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน ทำให้เกิดเป็นวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal
คำถามที่เราต้องเร่งหาคำตอบคือ…อะไรที่จะไม่เหมือนเดิม
Globalization สู่ Deglobalization
สุพริศร์ สุวรรณิก เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) จะมีความเข้มข้นมากขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดวิกฤตครั้งนี้ เราได้เห็นหลายประเทศใช้นโยบายแบบเน้นตนเอง (inward-looking policy) หรือปกป้องทางการค้า (protectionism) อย่างชัดเจนกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะจากสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติอเมริกันกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นและกีดกันการค้าจากต่างประเทศ
ประเด็นนี้กลับมาชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายขวาจัดและผู้ไม่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ว่า การพึ่งพิงระบบการผลิตระหว่างประเทศมากเกินไปเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งรวดเร็วมากขึ้น
จาก Free Trade สู่ Protectionism
ทั้งมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าประเทศต่างๆ จะหันมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศตนเองเพิ่มขึ้นอีก และกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตและขายสินค้าโดยไม่พึ่งพาแต่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะเห็นผลกระทบชัดเจนจากขั้นตอนการผลิตหรือตลาดขายสินค้าเมื่อยามที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่างๆ อาทิ การปิดเมืองหรือประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
นอกจากนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ อาจเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็น “โอกาส” ในการคิดทบทวนอย่างรอบคอบว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะเดินไปในทิศทางใด โดยจะพยายามกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่งจนเกินไป อาทิ ไม่พึ่งพาแต่การส่งออกหรือการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อาศัยการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นเครื่องจักรสำคัญด้วย
โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขจะได้รับการแก้ไข
วิกฤตโควิด-19 สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลหลายประเทศ หันมาใส่ใจพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประชาชนและไม่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการอย่างที่เคยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่ระบบสาธารณสุขไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิกฤตครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่บุคคลจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้หรือไม่นั้น ไม่ควรเป็นเรื่องของปัจเจกชนอีกต่อไป
เพราะคนคนหนึ่งที่จริงๆ แล้วเป็นพาหะของโรคอยู่ แต่ไม่สามารถไปใช้บริการตรวจไวรัสได้เพราะจ่ายเงินค่าตรวจไม่ไหวทั้งๆ ที่อยากไป และคงใช้ชีวิตแบบเดิมตามปกติ ทำให้แพร่โรคระบาดต่อไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวได้ จนในที่สุดการควบคุมโรคในภาพรวมจะทำได้ยากลำบาก และเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดหนักหนากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ดังที่ปรากฏในปัจจุบันตามยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าอิตาลีไปแล้ว ดังนั้นหลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ เราอาจได้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศก็เป็นได้
New Normal สู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ทุกวิกฤตย่อมทิ้งร่องรอย (legacy) ไว้เสมอ ย้อนกลับไปในสมัยการระบาดของโรคซาร์สในปี 2545 ก็สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์อย่างอีคอมเมิร์ซในจีน ให้มาเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูง โดยเฉพาะอาลีบาบาและเจดีดอทคอม เพราะผู้คนหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากพื้นที่สาธารณะและหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น มาถึงวิกฤตครั้งนี้ก็จะทิ้งร่องรอยไว้เช่นกัน โดยเป็นการตอกย้ำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อช่วงชิงตลาดจากการค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้นอีก
รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลหลายประเภทที่มีมานานแล้วแต่ยังไม่มีคนใช้กันมากนัก วิกฤตครั้งนี้กลับบังคับให้คนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างจริงจัง และสร้างโอกาสต่อยอดให้มีผู้เล่นในตลาดมากยิ่งขึ้น อาทิแพลตฟอร์มที่ช่วยสื่อสารทางไกล จัดประชุม หรืออีเวนท์ ซึ่งผู้บริโภคจะเกิดความคุ้นเคยและเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้เทคโนโลยีอย่างถาวร นอกจากนี้แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาไปใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ทดแทนทั้งหมดในช่วงวิกฤต ซึ่งอาจพลิกโฉมระบบการศึกษาโลกไปโดยสิ้นเชิงหลังผ่านพ้นวิกฤตแล้ว
ประเด็นสุดท้ายคือผู้คนอาจจะกลัวการใช้เงินสดหรือธนบัตร เพราะกระดาษอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคได้แม้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว และจะเริ่มคุ้นชินกับการรักษาสุขอนามัยอย่างเข้มงวด ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
โลกมุ่งสร้างความมั่นคงด้านอาหารปลอดภัย
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ระบุว่า โลกหลังโควิดคงเน้นความเพียงพอของอาหารมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ WHO, FAO, และ WTO ออกแถลงการณ์ร่วมกันห่วงใยการขาดแคลนอาหารในโลก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปิดพรมแดนจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ทำให้การขนส่งอาหารถูกกระทบจากปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ
ดังนั้น หลังโควิด-19 ความมั่นคงทางอาหารยังเกี่ยวโยงกับความมั่นคงทางสุขภาพ สาธารณสุข เช่น เรื่องการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารปลอดสารพิษ อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค อาหารที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง อาหารที่ฟื้นฟูสุขภาพ อาหารที่กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่อันตรายต่างๆ เหล่านี้ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมีการศึกษา การวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติ การรับเอานวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้อย่างมากในเวลาอันสั้น เรื่องเทคโนโลยีการผลิตยา วิตามิน เวชภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ น่าจะเป็นทิศทางของกิจกรรมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ประเทศต่างๆ คงพัฒนานักเทคโนโลยีของตนให้มากที่สุด
สำหรับประเทศไทยเองก็คงต้องสร้างระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรม (Eco-System for Innovation) ของคนไทย ที่ชักชวนให้แรงจูงใจคนให้มาร่วมคิดร่วมประดิษฐ์ ร่วมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งยาป้องกันโรค ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เรามีประสบการณ์แล้วว่าที่ผ่านมายามคับขันเขาขาดแคลนอะไร เพียงใด และเราควรส่งเสริมนักเทคโนโลยีไทยอย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุข
Digital Transformation
วิทยาศาสตร์ของข้อมูลสถิติ (Data Science) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะช่วยหาคำตอบในเรื่องต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการคาดการณ์และเข้าใจการระบาดของโรค การแก้ไขการระบาด และระบบการติดตามผู้อาจติดเชื้อ (Test and Trace) เป็นข้อมูลใหญ่ที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง (Big Data Analytic) ซึ่งในอดีตหลายประเทศอาจไม่ได้ให้ความสำคัญพัฒนาระบบเหล่านี้ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าจะมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน อาทิเช่น การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน จากการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการปิดสถานที่ต่างๆ ตามมาตรการสาธารณสุขในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก (ถ้ารวมเขตปกครองพิเศษต่างๆ ก็จะถึง 210 แห่ง) ทำให้เทคโนโลยีเข้ามาบงการชีวิตคนอย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม
การเรียนการสอนออนไลน์ การประชุมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมผ่านระบบทางไกล เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การซื้อของ การสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ การใช้เทคโนโลยีในบริการทางการเงินที่เต็มรูปแบบยิ่งขึ้นเป็นต้น ก็กลายเป็นวิถีชีวิตของคนรวมทั้งคนไทยไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันการขนส่ง ส่งมอบสินค้าที่สั่งออนไลน์ (Delivery Service) ก็กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วและต้องการคนทำงานมากขึ้นอย่างมาก
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจบริการที่สนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก มีการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกิดขึ้นหลายระบบในเวลาอันสั้น และจะมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางในธุรกิจระหว่างประเทศลดลง
กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีในชีวิตของโลกหลังโควิค คงไม่กลับมาสู่ระดับการใช้เทคโนโลยีก่อนโควิดอีกแล้ว แต่จะไปไกลขนาดไหน เทคโนโลยีออนไลน์จะกระทบอาชีพใดบ้าง กระทบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อาชีพอิสระ อาคารสำนักงาน จะกระทบธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว, การเดินทางมากขนาดไหน จะมีรูปโฉมแตกต่างไปอย่างไร
แยกแยะ..ความผิดปกติปัจจุบัน หรือปกติใหม่
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุการไม่แยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม กับ “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” เช่น การประชุมผ่านระบบออนไลน์ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะช่วยลดต้นทุนจากการเดินทาง
การไม่แยกแยะประเด็นอาจทำให้เข้าใจผิดไปว่า พฤติกรรมของมนุษย์เราในช่วงผิดปกติในปัจจุบันส่วนใหญ่จะดำรงต่อเนื่องไป ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอดีตชี้ว่า ในหลายกรณีพฤติกรรมส่วนใหญ่ในช่วงผิดปกติ จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว
ดังนั้นก่อนที่เราจะด่วนสรุปว่า “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด” เป็นอย่างไร และควรดำเนินการอย่างไรนั้น เราควรต้องถามตัวเองอย่างน้อย 5 คำถาม คือ
- เราใช้ข้อสมมติ (assumption) อะไรในการวาดภาพอนาคต?
- เราได้พยายามแยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดออกจาก “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” หรือยัง?
- “ความปกติใหม่” ที่เราตั้งเป้าอยากเห็นจะมีต้นทุนสูงเพียงใด เราพร้อมจะจ่ายและสามารถจ่ายได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่น่าจะเติบโตช้าลง ในขณะที่รัฐบาล ธุรกิจ และประชาชนไทย จะมีทรัพยากรน้อยกว่าก่อนเกิดโควิด-19 มาก?
- การสร้าง “ความปกติใหม่” ตามที่เราจินตนาการไว้ จะต่อยอดจากการลงทุนสร้าง “ความปกติเดิม” ก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไร ทั้งทุนกายภาพและทุนมนุษย์ ซึ่งหาก “ความปกติ” ใน 2 ช่วงเวลาแตกต่างกันมาก เราจะทำอย่างไรไม่ให้การลงทุนมหาศาลในอดีตสูญเปล่า?
- เราเข้าใจ บริบทใหม่ (new context) ในเศรษฐกิจการเมืองโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปดีพอหรือยัง ที่จะทำให้เราปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับบริบทใหม่นี้?
ดังนั้น การทำความเข้าใจต่อ “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด-19” มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างมาก เราจึงควรช่วยกันศึกษาให้ดี ไม่ควรด่วนสรุปจากการหาคำตอบแบบผิว