ไทยติดอันดับ 2 ของโลกในด้านการฟื้นตัวจากโควิด-19 จากการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ซึ่งพัฒนาโดย PEMANDU Associates บริษัทที่ปรึกษาเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเลเซีย
GCI ใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าในการคำนวณคะแนน และจัดอันดับความสามารถของ 184 ประเทศและดินแดน ในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยนำตัวชี้วัดหลายด้านมาประกอบการคิดคะแนน แบ่งเป็นดัชนี Severity Index (ดัชนีความรุนแรงของโรคระบาด) และ Recovery Index (ดัชนีการฟื้นตัวจากโรคระบาด)
สำหรับ Severity Index นั้น ดูจากจำนวนเคสผู้ติดเชื้อยืนยันต่อจำนวนประชากร ซึ่งวัดตามขนาดประชากรที่ไม่เท่ากันของแต่ละประเทศ และเทียบสัดส่วนอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ซึ่ง 2 ตัวชี้วัดนี้คิดเป็นคะแนน 70% ของคะแนนรวมใน Severity Index และเป็นข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงได้แบบวันต่อวันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโรคระบาด
ส่วนอีก 30% มาจากคะแนนคงที่ที่มาจากดัชนี Global Health Security (GHS) (ความปลอดภัยทางสุขภาพทั่วโลก) ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ เพื่อวัดความพร้อมของแต่ละประเทศในการจัดการหรือรับมือกับโรคระบาด โดยแบ่งเป็น 2 หมวดหมู่ ประกอบด้วย 1. ความสามารถในการป้องกันโรคระบาด และ 2. ความเสี่ยงด้านสาธารณสุข
อีกดัชนีที่ GCI ใช้วัดประเทศต่างๆ ที่เผชิญกับโรคระบาดก็คือดัชนีการฟื้นตัว (Recovery Index) ซึ่งคะแนน 70% มาจากตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ 1. จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาอยู่ต่อจำนวนประชากร (ไม่นับผู้ที่รักษาหายหรือเสียชีวิตจากโควิด-19) 2. สัดส่วนผู้ที่หายดีจากโควิด-19 ต่อจำนวนเคสผู้ติดเชื้อยืนยัน 3. การตรวจเชื้อกลุ่มตัวอย่างต่อจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน และ 4. การตรวจหาเชื้อต่อจำนวนประชากร โดย 2 หมวดหลังนี้จะดูว่าแต่ละประเทศลงทุน และมีความพร้อมในด้านการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึงเพียงใด
ส่วนอีก 30% ที่นำมารวมเป็นคะแนน Recovery Index มาจากดัชนี Global Health Security (GHS) ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์เช่นกัน ซึ่งตัวชี้วัดที่นำมาประกอบ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ 1. การวัดความสามารถของประเทศต่างๆ ในการตรวจหาและรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 2. ความรวดเร็วในการตอบสนองต่อสถานการณ์เพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งรวมถึงความสามารถในการสื่อสารและเผยแพร่ข่าวสารแก่ประชาชน และ 3. โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณสุขเพื่อรักษาผู้ป่วยและปกป้องบุคลากรแพทย์จากโรคระบาด ซึ่งหมวดสุดท้ายนี้จะรวบรวมข้อมูลด้านสาธารณสุขที่สำคัญ เช่น สัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร จำนวนแพทย์ต่อประชากร และความยากง่ายในการเข้าถึงระบบเฮลธ์แคร์ขั้นพื้นฐาน
โดยการจัดอันดับภาพรวมดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 (Recovery Index) ไทยติดอันดับ 2 ของโลก ด้วยคะแนนดัชนี 83.32 และจัดอยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 5 คือประเทศที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก โดยอันดับ 1 คือออสเตรเลีย 86.34 คะแนน
ส่วนในด้านความรุนแรงของโรคระบาด (Severity Index) นั้น ไทยมี 10.98 คะแนน อยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 1 ซึ่งหมายถึงประเทศที่รับมือกับวิกฤตได้ดีโดยมีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อต่ำ และมีผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
คะแนน-อันดับประเทศและดินแดนที่มีค่าดัชนี Recovery Index สูงสุด (10 อันดับแรก) ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2563
- ออสเตรเลีย 86.34
- ไทย 83.32
- เดนมาร์ก 81.56
- ฮ่องกง 81.29
- ไต้หวัน 79.55
- นิวซีแลนด์ 79.06
- เกาหลีใต้ 78.68
- ลิทัวเนีย 76.40
- ไอซ์แลนด์ 75.81
- สโลวีเนีย 75.77
สามารถดูตารางการจัดอันดับฉบับเต็มได้ที่ https://covid19.pemandu.org/#main
ข่าวต้นฉบับ https://thestandard.co/global-covid-19-index-thailand