หลังเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่และกระจายไปทั่วโลกนั้น ทำให้เราเชื่อกันว่าวิถีชีวิตในแบบปกติที่เราดำเนินอยู่ทุกวันนี้ กำลังจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่และกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของเรา หรือคำที่มักจะได้ยินกันหนาหูในเวลานี้ก็คือคำว่า The Next Normal และจากจุดนี้เองทำให้ “รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์” สถาปนิกชื่อดัง ผู้ก่อตั้ง OPENBOX GROUP บริษัทสถาปนิกชั้นนำของประเทศ ที่มีผลงานการออกแบบตึกสูง โรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงที่อยู่อาศัยประเภท Complex Residence ชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ ได้อธิบาย The Next Normal ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเมืองและชีวิตผู้คน สู่โซลูชั่นของการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต (City of Future)

โดย โซลูชั่น City of Future นี่เองจะเป็นเหมือน[สูตรสำเร็จ]ของการออกแบบการพัฒนาเมืองที่สอดรับกับ The Next Normal ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิดที่จะอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์วิถีการดำเนินชีวิตใหม่ซึ่งถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) และสอดคล้องกับแนวคิดในกระแสโลกยุคใหม่ คือการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มุมมองเกี่ยวกับเมืองแห่งอนาคตของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่สำหรับ รติวัฒน์ นั้น เขาบอกว่า คือเมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์การออกแบบในด้านต่าง ๆ รวมเข้ามาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ, การออกแบบอาคาร สถานที่ หรือเมืองให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย, การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว และการใช้พลังงานร่วมกันอย่างประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่จะเข้ามาเติมเต็มทำให้เมืองมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก็คือ การขนส่ง และนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย

สำหรับ แนวคิดการออกแบบการพัฒนาเมืองภายใต้แนวคิด S-E-N-S-E ที่รวม 5 โซลูชั่น สำหรับ City of the Future เมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ดังนี้
1. S – Space Efficiency การจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นแนวคิดการจัดการพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมให้แก่ผู้อยู่อาศัย โดยหนึ่งในโซลูชั่นที่จะเข้ามาตอบโจทย์แนวคิดนี้ก็คือ อาคารสูง เช่น คอนโดมิเนียม ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาการใช้พื้นที่และทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ กล่าวคือหากเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในแนวราบแบบกระจายตัวมารวบเป็นอาคารสูง จะทำให้มีพื้นที่เหลือในการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการมีพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน อาคารสูงยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิดที่ผู้อยู่อาศัยจะแยกกันอยู่คนละชั้น ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ และไม่มีปัญหาเรื่องการใช้อากาศร่วมกัน ให้ความรู้สึกปลอดภัยห่างไกลโควิดได้มากกว่าบ้านที่เป็นแนวราบ
2. E – Energy Sharing การออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันจะพบว่า คอนโดมิเนียม จะมีการใช้พลังงานสูงสุดในช่วงเวลากลางคืน แต่ช่วงกลางวันการใช้พลังงานจะลดลงไป ขณะที่อาคารสำนักงาน จะใช้พลังงานสูงสุดในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น แต่จะลดการใช้ลงในช่วงกลางคืน ซึ่งแต่ละอาคารเหล่านั้นจะติดตั้งอุปกรณ์การจัดการพลังงานของตนเอง อุปกรณ์เหล่านั้นจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีพลังงานเหลือเกินความต้องการ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Energy Blockchain หรือ Digital Energy กรณีมีพลังงานเหลือก็จะนำไปขายให้แก่ตึกที่อยู่ใกล้เคียงและใช้ในแบบเหลื่อมเวลากัน หรืออีกแนวคิดที่เรียกว่า District Cooling ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ โดยสามารถส่งความเย็นไปยังสถานที่อื่น ๆ ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคารสำนักงาน ห้าง และ คอนโดมิเนียม ถือเป็นแนวคิดการลดใช้พลังงาน ลดการใช้อุปกรณ์ที่เกินความจำเป็น
3. N – Nature & Green การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว เช่น แนวคิดการขยายพื้นที่สวนสาธารณะขนาดย่อม (pocket park) ให้กระจายตัวมากขึ้นในเขตเมือง และให้เพียงพอกับระยะคนเดิน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเจ้าแห่ง pocket park แห่งหนึ่งของโลก หรือในประเทศสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ที่นอกจากจะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่แล้วยังมี pocket park อีกหลายแห่ง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ park network สวนสาธารณะหลาย ๆ แห่งที่ผู้คนสามารถเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยาน เชื่อมถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านหรือใช้ถนน ซึ่งแนวคิดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการออกแบบทั้งสิ้น
4. S – Synchronization of Multi-Functions การออกแบบอาคาร สถานที่ หรือเมือง ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของเมืองในซีกโลกตะวันออกที่เป็นแบบผสมสาน (Mixed-use) โดยออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนโหมดของอาคาร สถานที่ หรือเมืองได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆอย่างเช่น คอนโดมิเนียมในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด จะเห็นได้ว่าหลายแห่งจะกำหนดการใช้ลิฟท์แบบจำกัด หรือจำกัดจำนวนของคนใช้ลิฟท์ ซึ่งในอนาคตการออกแบบจะสามารถเข้ามาเพิ่มเติมฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ทุกชีวิตในยุคโควิดมีความสบายใจมากขึ้น อาทิ ล็อกเกอร์รับ-ส่งอาหาร หรือสิ่งของต่าง ๆ โดยผู้รับและผู้ส่งไม่ต้องเจอหน้ากัน และการออกแบบพื้นที่แบบ space in space ภายในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางโดยใช้อุปกรณ์เพื่อแยกความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อไม่เกิดความระแวงในการใช้พื้นที่ส่วนรวม

ส่วนในระดับเมือง อาจจะนึกถึงประเทศโมนาโค หรือสิงคโปร์ ที่จะมีการจัดโหมดเมืองสำหรับการแข่งรถ สร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกมาก ขณะที่ประเทศไทยเอง มีโหมดเรื่องการป้องกันน้ำท่วม แต่ยังสามารถออกแบบเมืองให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโหมดอื่น ๆ เช่น โหมดการเฝ้าระวังเชื้อโควิด หรือโหมดการจัดบิ๊กอีเว้นท์ เช่นวันสงกรานต์ เป็นต้น
5. E – Explorations of Innovations การคิดค้น พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมการอยู่อาศัยที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน โดยการออกแบบบ้าน คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน สามารถดึงนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยตอบโจทย์กับชีวิต New Normal อย่างเช่น ลิฟท์ ปัจจุบันคอนโดมิเนียมหลายแห่งใช้โถงลิฟท์[private lift] ส่วนตัวเข้ามาใช้มากขึ้น นอกจากจะเป็นโซลูชั่นด้านความปลอดภัยในยุคโควิดแล้ว ยังตอบโจทย์การซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนได้ เพราะลิฟท์ที่แยกออกมาต่างหากนั้น จะไม่เป็นการรบกวนกับเจ้าของห้องจริงที่เป็นผู้อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้น ๆ เลย ปัจจุบันยังพบด้วยว่ามีการคิดค้นลิฟท์ในรูปแบบต่าง ๆ ไว้มากมาย เพื่อรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น ลิฟท์ที่เคลื่อนตัวในแนวราบ [double deck lift] เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ในยุคโควิดได้เป็นอย่างดี อาทิ ประตูสองชั้น ที่ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการคัดกรองคนเข้าออก และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ, การออกแบบพื้นที่ในสำนักงาน หรือ โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ที่ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค และ Smog-eating surface สีหรือพื้นผิวที่สามารถดูดซับเชื้อโรค ฝุ่นละลองพิษต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงนวัตกรรมด้าน Transportation หรือการขนส่ง โดยเมืองแห่งอนาคตจะสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นหากมีการจัดการด้านการขนส่งอย่างเหมาะสม ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้น ผู้คนยังต้องเดินทาง ต้องติดต่อสื่อสาร และรับ-ส่งสิ่งของระหว่างกัน การออกแบบเมืองจึงสามารถออกแบบให้รองรับกับแนวคิดการขนส่งในรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น Hyperloop, drone transport เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ คือโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคตนั่นเอง โดยผู้ก่อตั้ง OPENBOX กล่าวเสริมด้วยว่า แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดการออกแบบโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นโซลูชั่นที่ต้องการเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน เป็นคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ และสำคัญที่สุดคือ เมืองแห่งอนาคตนั้นจะต้องสามารถตอบโจทย์ได้ครบถ้วนทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นเมืองที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง