ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัดในเดือน เม.ย. 2563 ขยับมาอยู่ที่ระดับ 35.1 เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 2563 ที่ระดับ 33.1 โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ มาจากความกังวลของครัวเรือนที่ลดลงต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนทำเรื่องขอพักชำระหนี้ประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้น หลังจากที่สถาบันการเงินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมในเดือน เม.ย. 2563 ประกอบกับครัวเรือนบางส่วนมีค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนจากเดือนก่อนหน้าจากปัจจัย ได้แก่ (1) การทำงานที่บ้าน (Work from home) ที่ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ (2) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายไปในทางที่ประหยัดมัธยัสถ์มากขึ้น (3) การเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 ก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยได้ผ่านจุดที่ย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว นั่นเป็นเพราะว่า เครื่องชี้ด้านรายได้และเงินออมยังคงปรับตัวแย่ลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลง ประกอบกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) อยู่ที่ระดับ 33.4 ซึ่งต่ำกว่าดัชนีฯ เดือน เม.ย. 2563 สะท้อนความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนพ.ค.-ก.ค. 2563) จากการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการครองชีพของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่า ครัวเรือนไทยจะอยู่บ้านได้อีกเพียง 1-2 เดือน (นับหลังจากเดือนเม.ย. 2563) หากเกินกว่านี้ จะได้รับความเดือดร้อนในการครองชีพ โดยมาตรการที่ครัวเรือน ส่วนใหญ่ต้องการ คือ การได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง และมาตรการใช้ไฟฟ้าประปาฟรี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 ยังเผชิญความเสี่ยงสูง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ จะลดลงมาอยู่ในระดับหลักหน่วย และมีการทยอยคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไปบ้างแล้ว แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวทางธุรกิจ ภายใต้การรักษาระยะห่างทางสังคม ก็อาจจะใช้ระยะเวลาเป็นปี ขึ้นอยู่กับการคิดค้นวัคซีนและการผลิตที่เข้าถึงประชากรหมู่มาก ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จ