ก่อนหน้านี้ที่ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย และ ประธานกรรมการ มูลนิธิกสิกรไทย ได้แถลงข่าวทางออนไลน์ถึงการให้ความช่วยเหลือในโครงการสินเชื่อเถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ เพื่อช่วยเอสเอ็มอีที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ พร้อมฝากข้อคิดให้รัฐบาล องค์กรธุรกิจและคนไทยคิดถึงการหาองค์ความรู้ใหม่ รูปแบบการทำมาหากินหรือแม้แต่การทำการเกษตรแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จบลง อันเป็น New Normal ที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่จะเกิดในลักษณ์ใดเท่านั้นเอง
ในครั้งนี้ บัณฑูร แถลงถึงการที่ธนาคารกสิกรไทยและมูลนิธิกสิกรไทยที่ได้สนับสนุนวงเงิน 1,300 ล้านบาทกับสองโครงการ นั่นคือ
โครงการ ‘เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์’
โครงการ’เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์’ ถือเป็นการให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการตีความอย่างครอบคลุมกว่าที่คนเข้าใจกัน เนื่องจากปกติคำว่าบุคลากรทางการแพทย์ คนมักตีความเพียงแค่แพทย์ พยาบาล แต่สำหรับบัณฑูรแล้วคนที่ทำงานในโรงพยาบในหน้าที่อื่นๆ ก็ล้วนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค พนักงานทำความสะอาด พนักงานเก็บขยะ พนักงานเวรเปล เจ้าหน้าที่คัดกรอง เจ้าหน้าที่ขับรถพยาบาล ฯลฯ นำร่องกับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง จากการที่มีคนเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาตลอด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานีและสตูล โดยการทำงาร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยง
การสนับสนุนสำหรับโครงการนี้มูลนิธิกสิกรไทยจะห้การสนับสนุนบุคลากรในโรงพยาบาลรัฐจำนวน 45 แห่ง ใน 5 จังหวัดดังกล่าวที่ มีบุคลากรรวม 5,083 คน โดยจะได้รับเงินรายเดือนเข้าบัญชีส่วนตัวโดยตรงคนละ 4,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคนี้ คาดว่าตลอดทั้งโครงการสามารถมอบเงินช่วยเหลือได้รวมกว่า 2 หมื่นคน ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท
“จริงๆ แล้วบุคลากรเหล่านี้ทำงานหนักกว่าเงินเดือนปกติที่ได้รับ ดังนั้น ถ้าหากมีอะไรสนับสนุนเพิ่มเติมก็จะได้กำลังใจและสามารถนำไปใช้จ่ายหรือจุนเจือครอบครัวได้อีกด้วย”
โครงการ ‘สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี’
โครงการ ‘สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี’ ถือเป็นการต่อท่อลมหายใจให้กับเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 200 คน ให้สามารถดำรงสถานะของธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องสะดุดหรือหยุดกิจการกลางคัน หรือแม้แต่การปลดพนักงาน เนื่องจากมีปัญหากระแสเงินสด จากการที่ไม่สามารถทำการค้าได้ตามปกติ
บัณฑูรกล่าวว่า “ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เพราะไม่ได้มีเงินทุนสำรองมากพอ เมื่อขาดสภาพคล่อง อีกทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก โครงการนี้จึงมุ่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่เป็นลูกค้าของธนาคารมาหลายปี และมีพนักงานไม่เกิน 200 คน ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจจะต้องเป็นคนดี เป็นนักสู้ที่พยายามต่อสู้เพื่อนำพาธุรกิจและพนักงานรอดไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนนั้นจะต้องต้องดำเนินต่อไปได้และสามารถดูแลค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในส่วนอื่นๆ ได้เอง โดยไม่หยุดหรือปิดกิจการ ขณะที่ได้รับการสนับสนนสินเชิ่อ เพื่อช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานทุกคนให้บางส่วน
ทั้งนี้ โครงการ’สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี’ มีอัตราดอกเบี้ย 0% ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ไม่ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลากู้ 10 ปี และไม่ต้องผ่อนชำระคืนเงินกู้ 1 ปี เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็กมีเงินทุนจ้างพนักงาน โดยวงเงินกู้ของแต่ละบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนพนักงาน และพนักงานจะได้เงินคนละ 8,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ ธนาคารจะมีกระบวนการตรวจสอบได้ว่า เงินได้เข้าบัญชีพนักงานทุกคนจริง ซึ่งธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับโครงการนี้ไว้ 1,000 ล้านบาท จะสามารถช่วยธุรกิจทั่วประเทศจำนวนกว่า 1,000 บริษัทให้มีเงินทุนในการจ้างพนักงานกว่า 41,000 คน”
“เงื่อนไขของการพิจารณา โดยธนาคารจะสนับสนุนเงินกู้เพื่อจ้างพนักงาน
ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยร่วมมือกับเจ้าของกิจการในการช่วยเหลือพนักงานที่มีเงินเดือนน้อยให้อยู่รอดได้ โดยมีจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มีความคืบหน้าในการรักษาการจ้างพนักงานได้กว่า 2,000 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 3,000 คน คิดเป็นเกือบ 70% ของเป้า
ยอมเสียรายได้เพื่อก้าวไปด้วยกัน
บัณฑูรกล่าวถึงความช่วยเหลือครั้งนี้ว่า “ธนาคารยอมสูญเสียรายได้เพื่อให้คนในสังคมส่วนหนึ่งอยู่รอด เพราะการที่ทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนที่มีต้องช่วยคนที่ไม่มี ถ้าทุกคนช่วยกันประเทศไทยก็จะสามารถฝ่าฟันและผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากสถาบันการเงินดูภาพรวมและยังคิดแบบเดิมๆ ด้วยสถานการณ์อย่างนี้ก็จะไม่มีใครกล้าปล่อยสินเชื่อแน่ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความอึดอัด ทั้งที่จริงแล้วเราต้องเปรียบสถานการณ์เช่นนี้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เสมือนเป็นยามศึกสงคราม จะใช้กฎกติกาแบบเดิมไม่ได้
จริงๆ แล้วสถาบันการเงินยังมีกำลังที่จะช่วยได้ เรื่องรายได้ที่ควรจะได้ควรจะเป็นอะไรนั้นก็ควรจะต้องให้ระบบรอดก่อน ถ้าระบบเศรษฐกิจโดยรวมไปไม่รอด เราก็ไปไม่รอด ตอนนี้ต้องมองกันตรงเฉพาะหน้า ต้องสละสั้นเพื่อเอายาว นอกจากนี้ สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องคำนึงถึงก็คือ ต้องทำอะไรจึงจะไปรอด…ต้องดูสถานการณ์การแข่งขันอยู่ตรงไหน ถ้าป้อแป้อยู่แล้วก็สู้ไม่ได้ น้ำมาก็สู้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ถ้าเดินทางไม่ได้ก็ไม่ได้ เรื่องกระแสเงินสดที่มีปัญหาเพราะรายได้ไม่มา มีแต่รายจ่าย ถ้าปล่อยตามปกติเราก็ช่วยให้รักษาผู้คน รอจนกว่า ‘น้ำ’ จะมา ต้องประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ดังนั้น เราก็ดันเต็มที่และช่วยในส่วนของเรา”
เตือนรัฐบาลต้องมีแผน 2
นอกจากนี้ บัณฑูร ได้เสนอแนะขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับเนชั่นทีวีเพิ่มเติมว่า
“ในส่วนของรัฐบาลก็อยากให้มองแผนสองไว้ด้วย เพราะมาตรการเยียวยานี้ก็จะครบสามเดือนแล้ว เมื่อครบสามเดือนได้เตรียมการอะไรไว้หรือยัง สิ่งที่อยากเสนอต่อรัฐบาล คือ การแก้ปัญหาโรคระบาด เพราะวิกฤติครั้งนี้จะผ่านไปได้และระบบเศรษฐกิจจะเดินได้ก็ต่อเมื่อเรารับมือกับโรคระบาดได้ การท่องเที่ยวกลับมา หรือผู้คนมีวิถีชีวิตตามปกติ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มองด้วยว่า หลังวิกฤติ COVID-19 เราจะทำมาหากินกันอย่างไร โครงสร้างทางเศรษฐกิจจะเป็นแบบใด ประเทศไทยจึงจะสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ แล้วในการใช้งบประมาณหรือการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องนั้นอยากจะให้รัฐบาลแถลงหรือระบุด้วยตัวเลขอ้างอิงที่ผ่านการคำนวณมาแล้ว ไม่ใช่การใช้คำพูดลอยๆ ที่สำคัญ ต้องดูแลให้ผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยอย่างน้อยมีกิน ไม่อดตาย ซึ่งอาจจะทำได้ง่าย เช่น โรงทาน”