ผมเชื่อเหลือเกินว่าในช่วงนี้ หลายคนอาจรู้สึกเหนื่อยหน่ายหรือมีอาการเบื่อจากการอยู่บ้านเป็นเวลานานๆ ซึ่งต่างคนก็อาจมีวิธีระบายความเครียดที่ต่างกัน แต่หนึ่งวิธียอดนิยมเลยคงไม่พ้นการได้รับประทานอาหารอร่อยๆ
สำหรับช่วง Food Review โดย dtac blog ครั้งที่ 2 นี้ ผมได้รับเชิญให้มาแนะนำอาหารที่จะช่วยเติมพลังกายและพลังใจ ซึ่งแน่นอนผมขอแนะนำอาหารจากที่ที่เกิดและโตขึ้นมา นั่นก็คือ “อาหารอินเดีย”
จะว่าไปแล้ว อาหารอินเดียมีความเหมือนกับอาหารไทยหลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทแกง วิธีการปรุง ส่วนผสมของเครื่องเทศ และวิธีการรับประทานกับข้าว แต่รู้ไหมครับว่า จริงๆ แล้ว อาหารอินเดียมีความแตกต่างและหลากหลายอยู่สูงมาก เพราะด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่เป็นคาบสมุทร ภูมิอากาศที่แตกต่างกัน อย่างอาหารทางใต้ของอินเดียเช่นที่เชนไนหรือโกจี อาหารที่นั่นมักมีรสเผ็ดร้อน ขณะที่ภาคเหนือของอินเดีย อาหารที่นั่นค่อนข้างหวานและมีส่วนผสมของนม ทำให้เนื้อสัมผัสมีความครีมมี่ค่อนข้างมาก และถ้าหากมีโอกาสเดินทางไปทางตะวันตกของอินเดีย คุณจะได้มีโอกาสลิ้มรสความสดของอาหารทะเลที่นั่น ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นั่นขึ้นชื่ออย่างมากเลยล่ะครับ โดยเฉพาะของหวาน
ในแง่ของวัตถุดิบและส่วนผสม อย่างที่ทราบกันดีว่าอาหารอินเดียมีเครื่องเทศเป็นส่วนประกอบหลัก แต่นั่นล้วนเป็นสมุนไพรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นขิง กระเทียม ผักชี ขมิ้น และเมล็ดยี่หร่า ซึ่งเครื่องเทศที่ว่ามานั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก มันช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่มีโรคระบาด การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนัก โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ทางยา
ที่ว่ามานั้น จะเห็นได้ว่าอาหารไทยและอินเดียมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เหมือนกัน ใช่มั้ยละครับ
สำหรับใครที่ไม่เคยรับประทานอาหารอินเดียมาก่อน ผมอยากจะให้เริ่มต้นด้วยอาหาร 4 จานนี้ แต่ก่อนที่จะเริ่ม ผมอยากให้ลองแสน็คที่เรียกว่า “พาพาดัม” มาช่วยเรียกน้ำย่อยกันสักนิด ซึ่งถ้าเปรียบกับอาหารไทยแล้วน่าจะคล้ายกับข้าวเกรียบนั่นเอง สำหรับแสน็คชนิดนี้ส่วนใหญ่ทำมาจากพืชตระกูลถั่วอย่างเมล็ดถั่วเลนทิลหรือชิกพี แต่หลายที่ก็มีสูตรของตัวเอง ซึ่งทำมาจากมันฝรั่งหรือข้าวนั่นเอง
เรามาเริ่มกับอาหารจานแรกกันแล้วกันครับ นั่นก็คือ “ซาโมซ่าผัก” ถ้าเทียบกับอาหารฝรั่งก็คือ Starter ผมคิดว่าจานนี้คนไทยหลายคนอาจคุ้นเคยดี ผมว่ามันคล้ายกับกะหรี่ปั๊บของไทย แต่สำหรับซาโมซ่านั้น จะห่อแบบสามเหลี่ยม ไส้ข้างในมีส่วนประกอบหลักๆ เลยคือ มันฝรั่ง แครอท ผักกะหล่ำหั่นฝอย คลุกเคล้าด้วยเครื่องเทศ เมื่อห่อเสร็จแล้วนำเอาไปทอดพอเหลืองกรอบ สะเด็ดน้ำมันพร้อมทานกับน้ำจิ้มสะระแหน่ ความกรอบของแป้งกับความมันของมันฝรั่งพร้อมกับรสชาติอันสดชื่นของน้ำจิ้มสะระแหน่นั้น เรียกได้ว่าเป็น perfect combination ที่ช่วยเรียกน้ำย่อยได้ดีทีเดียว
สำหรับจานที่ 2 ที่ผมขอแนะนำก็คือ Butter chicken หรือที่คนไทยหลายคนเรียกแกงไก่อินเดีย เมนูนี้เป็นอาหารจานเด็ดที่เรียกว่าต้องมีทุกร้านของอาหารอินเดียทั่วโลก เนื้อไก่หมักด้วยโยเกิร์ตและเครื่องเทศต่างๆ ผัดพร้อมกับซอสเนยและนม ทำให้แกงมีความข้นครีม ทานกับแป้งนานอินเดียช่างเข้ากันดีเหลือเกิน
จานนี้มีความคล้ายคลึงกับวิธีทำแกงของไทยมาก ด้วยองค์ประกอบของเครื่องเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมาซาล่า ขมิ้น ยี่หร่าและพริกบดเป็นผงละเอียดให้เข้ากัน ทั้งนี้ ต่างภาคต่างพื้นที่ของอินเดียมีรสชาติที่แตกต่างกัน อย่างทางตะวันออกเฉียงเหนือจะค่อนข้างหวาน แต่ถ้าเป็นทางใต้จะมีรสเผ็ดนำ
และช่วงที่อยู่แต่บ้านทั้งวันอย่างนี้ ผมว่าอาหารจานนี้จะช่วยเติมเต็มความอิ่มและชีวิตจิตใจได้ดีทีเดียวล่ะครับ ไม่ว่าคุณจะผ่านความเครียดมาจากไหนหรือขนาดไหนก็ตาม
สำหรับจานที่ 3 ที่ผมขอแนะนำก็คือ “ไก่ย่างทันดูรี” จานนี้อาจคุ้นหูคนไทยหลายๆ คน ไก่ย่างเป็นอาหารที่เรียกได้ว่าคนทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์มีการปรุงไก่ย่างที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แม้แต่ประเทศไทยเอง ในแต่ละที่ก็มีไก่ย่างที่มีความเฉพาะตัวของตัวเอง แต่สำหรับอินเดียนั้น สิ่งที่ทำให้ไก่ย่างทันดูรีมีความพิเศษกว่าไก่ย่างที่อื่นก็คือ สมุนไพรที่หมักนั่นเอง อย่างสีแดงของไก่ทันดูรีนั้นมาจากมาซาล่า หมักด้วยโยเกิร์ต แล้วนำไปย่าง อันที่จริงแล้ว สำหรับคนอินเดียนั้น ไก่ย่างทันดูรีอาจเรียกได้ว่าเป็นอาหารสามัญประจำบ้าน อาจรับประทานในช่วงพักเบรกกับน้ำชา ซึ่งน่าช่วยทำให้หลายคนคลายความเครียดได้ในช่วงของการ work from home
และจานสุดท้ายที่ผมอยากแนะนำก็คือ “ข้าวหมกไก่สไตล์อินเดีย” เป็นจานที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของความเป็นอินเดียได้ดีอีกจานหนึ่ง ทั้งความหอมของเครื่องเทศ ความนุ่มของเนื้อไก่ และปุยนิ่มของข้าวบัสมาติอันเป็นเอกลักษณ์ของอินเดีย ด้วยส่วนผสมที่มีความหลากหลาย ทำให้มีสีและรสสัมผัสที่แตกต่างแต่ลงตัวในคำๆ เดียว เรียกได้ว่าเป็นจานพิเศษที่เหมาะสำหรับการแชร์กับคนในครอบครัว ส่งความสุขไปด้วยกัน และความสุขที่ว่านี้ก็จะทำให้สุขภาพใจของเราแข็งแรงยิ่งขึ้น
และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว คนอินเดียส่วนใหญ่มักจะตามด้วยการบีบมะนาวลงไปในแก้วน้ำดื่ม ซึ่งสิ่งนี้พิสูจน์แล้วว่าช่วยระบบการย่อยอาหาร
เห็นไหมครับว่า ไทยและอินเดียมีความคล้ายคลึงกันในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหารการกินที่ผมอธิบายมาตอนต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเราเหมือนกันอย่างยิ่งคือเรื่องของ “วัฒนธรรมการกิน” ที่เรา “แบ่งปันกัน” ดังนั้น อาหารจึงไม่ใช้เพียงเรื่องของการระงับความหิว แต่คือการสะท้อนภาพความศิวิไลซ์ของคนตะวันออกที่นำกุศโลบายด้านอาหารมาสร้างความกลมเกลียวกันในครอบครัว
ผมอยากให้ผู้อ่านได้ลองชิมลิ้มรสอาหารอินเดียกันนะครับ ขอแค่เปิดใจ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า คุณจะตกหลุมรักเลยล่ะครับ
สำหรับช่วงการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อย่างนี้ ผมขอแนะนำให้ใช้บริการส่งอาหาร ซึ่งดีแทคเราได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อย่าง foodpanda และ GET FOOD มอบสิทธิพิเศษส่วนลดร้านอาหาร โดยสามารถแลกสิทธิของคุณผ่านโปรแกรม dtac reward
ทานอาหารให้อร่อย ปลอดภัย ร่างกายแข็งแรงครับ!
อย่างช่วงนี้ ผมเลือกสั่งซื้ออาหารอินเดียจากร้าน Indus ซึ่งถ่ายทอดความเป็นอาหารอินเดียทางเหนือ ดังนั้น รสชาติจะออกหวาน น่าจะเหมาะกับลิ้นของคนไทยเลยล่ะครับ
ที่มา dtacblog