การประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน (ASEAN Business & Investment Summit : ABIS) ซึ่งเป็นเวทีของภาคธุรกิจที่จัดควบคู่กับการประชุมสุดยอดอาเซียนโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council : ASEAN-BAC) ในปีนี้ มีผู้นำจากภาคธุรกิจชั้นนำทั้งในอาเซียนและประเทศอื่นๆ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และระดมสมองหาแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันในภูมิภาค ผ่านหัวข้อเสวนา Sustainable ASEAN 4.0 : Circular Economy ซึ่งภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ได้ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด ดังนั้น แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงกลายเป็นคำตอบของภาคธุรกิจที่มีการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำอย่างคุ้มค่า ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างประโยชน์อย่างสมดุล ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี หนึ่งในองค์กรชั้นนำที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจัง เปิดเผยว่า เอสซีจีมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอยู่ทั้งในแผนแม่บทและในทุกส่วนของการดำเนินธุรกิจ จนถือเป็นหนึ่งใน DNA ของพนักงานทุกคน อีกทั้งยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาธุรกิจโลก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) และ Down Jones Sustainability Index (DJSI) มาอย่างยาวนาน กระทั่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาบรรจุอยู่ในแผนแม่บทของกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเล็งเห็นว่า แนวคิดนี้จะเป็นทางออกที่ดีให้กับการแก้ไขปัญหาทรัพยากรของโลกที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนในเร็ววันได้
จากแนวปฏิบัติต้นแบบ สู่ ขยะเป็นศูนย์
เอสซีจีมีโรงงานและสำนักงานกว่า 2,000 แห่งกระจายทั่วโลกจึงต้องมีหลักปฏิบัติที่เป็นต้นแบบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งในและนอกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ด้วยการนำทรัพยากรที่ผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ให้ลูกค้าใช้งานแล้ว วนกลับมาใช้เป็นทรัพยากรในการผลิตใหม่ โดยอาศัยการวางแผนบริหารจัดการของเสียที่ดีและความร่วมมือที่เข้มแข็งกับพันธมิตรคู่ค้า ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ความร่วมมือกับ ดาว ประเทศไทย ในการนำพลาสติกที่ใช้แล้ว เช่น ถุงพลาสติกและถุงใส่อาหารที่มาจากขยะในครัวเรือนมาบดผสมกับยางมะตอย เพื่อใช้ปูถนนในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงมีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีสัมมนา SD Symposium 2019 เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศอย่างแท้จริง ภายใต้การสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และร่วมมือกับภาครัฐในการกำกับดูแลเพื่อให้มาตรการต่าง ๆ มีผลบังคับใช้ได้ในชีวิตประวัน บนเป้าหมายที่จะทำให้ขยะในเมืองไทยเหลือ 0% (Zero Waste)”
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวถึงการร่วมขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งเอสซีจีและองค์กรต่างๆ ในประเทศต่างก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างการพัฒนายั่งยืนร่วมกัน เช่นเดียวกับแนวทางของ WBCSD ที่มุ่งผลักดันให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาขยะ ที่สำคัญ ประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน ติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากที่สุด แต่ในจำนวนนี้มีการนำขยะมารีไซเคิลได้เพียง 30% ดังนั้น จึงต้องสร้างความร่วมมือเพื่อทำให้เกิดการขยายพลังที่มากขึ้น
EEC นำร่อง ‘สมาร์ทซิตี้ รักษ์โลก’
แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า พื้นที่ EEC ถือเป็นพื้นที่นำร่องและส่งเสริมด้านการบริหารจัดการให้สิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนาส่งเสริมนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะ และร่วมมือกับภาครัฐ – ภาคธุรกิจเพื่อบริหารจัดการขยะทั้งประเทศ โดยมีโครงการนำร่องที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุน ที่ บ้านฉาง สมาร์ทซิตี้ จ.ระยอง ซึ่งในชุมชนมีความร่วมมือกับภาคธุรกิจในการวางกฎระเบียบการจัดการขยะและนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ขับเคลื่อน ศก.หมุนเวียนทั่วภูมิภาค
เหงียน ฉวน วิงห์ เลขาธิการทั่วไป Vietnam Business Council for Sustainable Development (VBCSD) กล่าวว่า เวียดนามมีความตื่นตัวและร่วมมือกันในภาคธุรกิจเพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ทว่า การขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิด (Mindset) ของทุกองค์กรให้มองเห็นภาพความสำเร็จของรูปแบบธุรกิจใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างคุณค่า จึงจะนำไปสู่การออกแบบรูปแบบธุรกิจ การพัฒนาสินค้า/บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพ อีกทั้งยังควรมีความร่วมมือกับภาคธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญกับการสร้างความต้องการให้เกิดการบริโภคและควรสร้างกระบวนการหมุนเวียนทรัพยากร โดยอาศัยการสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการ ควบคู่ไปกับการร่วมมือกับชุมชนบริเวณใกล้เคียง เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่กว้างขวางมากขึ้น