การท่าเรือบังคับเอกชนใช้บริการท่าเรือชายฝั่งใหม่ กระทบต้นทุนเพิ่มกว่า 200 ล./ปี

 

รมช.คมนาคม เปิดห้องประชุมรับฟังปัญหาผลกระทบจากประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดใช้ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) จากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดห้องประชุมรับฟังปัญหาและผลกระทบจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ และกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งตู้สินค้าทางเรือชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่มีคำสั่งให้เรือชายฝั่งที่จะดำเนินการบรรทุกสินค้าลงเรือสำหรับท่าเรือแหลมฉบังต้องดำเนินการบรรทุกสินค้า ณ ท่าเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) เท่านั้น 

ทั้งนี้ คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ( สรท. )ให้เหตุผลที่ขอเข้าพบท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้ว่า

“ประกาศให้เรือชายฝั่งที่จะดำเนินการบรรทุกสินค้าลงเรือสำหรับท่าเรือแหลมฉบังต้องดำเนินการบรรทุกสินค้า ณ ท่าเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) เท่านั้น ถือเป็นประกาศที่จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชนเป็นอย่างมาก ยิ่งสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 การออกประกาศดังกล่าวอาจจะเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบและประชาชน ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก อีกทั้งยังขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการสนับสนุนการขนส่งทางน้ำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการต้นทุนการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย จึงเห็นควรให้มีการศึกษาผลกระทบและแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อความเหมาะสมร่วมกันทุกฝ่ายก่อนการประกาศใช้”

สมบัติ เปรมประภา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ( สรท. ) ได้กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดต้องพึ่งพาต่างประเทศทั้งทางด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว และช่องทางที่เราใช้ในการขนส่งมากที่สุดก็คือทางเรือ และในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาการขนส่งได้ดี โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้าง ในขั้นตอนถัดไปก็ถึงขั้นที่เราจะต้องวางระบบเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งในแต่ละรูปแบบเข้าด้วยกัน แต่ประกาศฉบับนี้ซึ่งทั้งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ และกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งตู้สินค้าทางเรือชายฝั่ง ต่างเห็นตรงกันว่าจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบการขนส่ง อีกทั้งยังเพิ่มต้นทุนให้กับผู้นำเข้าอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกของประเทศไทยซึ่งตอนนี้ติดลบถึงร้อยละ 23 เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ซ้ำเติมผู้ประกอบการ”

และคุณสุวัฒน์ อัศวทองกุล ประธานสมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ(BSAA) ยังกล่าวต่อไปว่า “จากประกาศดังกล่าวจะส่งผลให้ต้นทุนในการขนส่งตู้สินค้าโดยรวมสูงขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณ 1,100 บาทต่อตู้ เมื่อเทียบกับการเข้าดำเนินการ ณ ท่าเรือสากลโดยตรง คาดว่าผลกระทบดังกล่าวคิดเป็นมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวทางสายเรือเองก็จำเป็นต้องเรียกเก็บกับผู้นำเข้า และจะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการผลิตสินค้าและขยายเป็นวงกว้างต่อประชาชน และอาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางน้ำโดยเรือชายฝั่ง ไปใช้การขนส่งทางบก โดยอาจส่งผลให้มีรถบรรทุกตู้สินค้าทางถนนเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนเที่ยวต่อปี ทำให้การจราจรทางถนนหนาแน่นขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนน นักท่องเที่ยว และความปลอดภัยในการจราจร อีกทั้งอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพผิวถนนที่ชำรุดเสียหายจากปริมาณความหนาแน่นของรถบรรทุกที่สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวและเป็นภาระของภาครัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณมาซ่อมแซมถนนเพิ่มขึ้นด้วย”

ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ (BSAA) และกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งตู้สินค้าทางเรือชายฝั่ง เห็นตรงกันว่าผลกระทบที่จะเกิดนี้จะส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ประชาชน และศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการของไทย ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย จึงทำจดหมายเพื่อขอเข้าปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เลื่อนการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวออกไปก่อนและช่วยพิจารณาทบทวนประกาศดังกล่าว ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ให้เข้าหารือและชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผลการหารือกับท่านรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ ท่านได้มีคำสั่งให้การท่าเรือดำเนินการ 2 ประการคือ 

1) ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน อันประกอบด้วยการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กลุ่มผู้ประกอบการให้บริการขนส่งด้วยเรือชายฝั่ง สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมตัวแทนเจ้าของเรือกรุงเทพ เพื่อร่วมทำงานหาแนวทางปฏิบัติอันเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของทั้งภาครัฐและเอกชน 

2) ให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศเรื่องการให้เรือชายฝั่งบรรทุกสินค้าขาเข้าลงเรือจากท่าเทียบเรือชายฝั่งออกไปจนกว่าจะมีแนวทางที่เหมาะสมทั้งต่อภาครัฐและเอกชน