New Journey ของผู้บริโภคที่อยู่ติดบ้านและยอมรับเทคโนโลยีดิจิทัลแบบรัวๆ ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่เฟื่องฟู ช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่กระนั้น ก็มีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า เจ้าของธุรกิจเก็บค่าชาร์จจากผู้ประกอบการร้านอาหารสูง เหมือนจะซ้ำเติมธุรกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้ยิ่งหนักเข้าไปอีก

 ทว่า ล่าสุด การเปิดตัวแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ROBINHOOD ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นการเปิดมิติใหม่สำหรับธุรกิจนี้ ด้วยจุดขายที่เป็นแพลตฟอร์มใจดี ไม่เก็บค่าจีพี (กำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit) ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องผจญพิษโควิด-19 โดยวางแผนที่จะนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เริ่มให้บริการปลายกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงที่มาของแพลตฟอร์มนี้ว่า

“เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเราเริ่มเห็นขนาดของปัญหาและลูกค้าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ทางธนาคารต้องคิดว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ขวัญและกำลังใจของคนในองค์กรเข้มแข็งที่สุด และสามารถดูแลลูกค้าอย่างเร่งด่วน เพื่อลดภาระของลูกค้าให้มากที่สุด ผ่านมาตรการพักชำระหนี้มากกว่าหลายแสนราย รวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อเยียวยาลูกค้า โดยทำงานควบคู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยดูแลคนไม่ให้ตกงาน เพราะธุรกิจของลูกค้าเดินหน้าต่อ

ธนาคารเชื่อว่า วิกฤติโควิด19 ยังไม่จบ และกว่าเศรษฐกิจจะกลับแข็งแรงแบบที่เคยเป็นมาก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น ธนาคารจึงใช้ห้วงเวลาดังกล่าวมาเป็นโอกาส เพื่อพัฒนาองค์กรและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผ่านยุทธศาสตร์ SCB New Normal ซึ่งจากรากฐานที่แข็งแรงจากการทำ Digital Transformation ทำให้ธนาคารมีขีดความสามารถในการเป็นองค์กรที่มีความตัวเบา และสามารถกำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) การปรับต้นทุนการให้บริการ แนวทางการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Engagement) การให้บริการกับลูกค้าในทุกๆ เซ็กเมนต์และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ การสร้างคุณค่าใหม่ (Core Value) โดยมีความเข้าใจ หรือ Empathy เป็นแกนหลัก เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นและสำเร็จ

ที่สำคัญ คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ (New Way of Work) ที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (SCB Work from Anywhere)  กล้าที่จะลองผิดลองถูก เพื่อนำผลไปปรับปรุงและพัฒนาจนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้สามารถฝ่าคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำจากทุกทิศทางได้

พร้อมกันนี้ ก็มุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าในทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SME) เพื่อบรรเทาปัญหาและความเดือดร้อนในส่วนที่ธนาคารสามารถทำได้อย่างเต็มความสามารถ โดยมาตรการช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อ การพักหนี้ หรือการลดดอกเบี้ย เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น (Short-Term Solution) ที่ช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าผ่านช่วงเวลายากลำบาก

ขณะเดียวกัน  ธนาคารยังได้คิด Long-Term Solution ด้วยการผนึกความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับวิถีองค์กรรูปแบบใหม่เพื่อช่วยเหลือลูกค้า สังคมและประเทศชาติ โดยพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาในเวลาเพียง 3 เดือน ภายใต้ชื่อ ROBINHOOD (โรบินฮู้ด) แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทยที่มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ คือ ไม่เก็บค่าจีพี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่พบเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งค่าจีพีถือเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบัน

การพัฒนาแพลตฟอร์มใจดีอย่าง ROBINHOOD นั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องการที่จะเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อช่วยเหลือกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่างๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป โดยมีภารกิจแรก คือ การเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจให้เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่าจีพีสำหรับร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ตั้งเป้าพร้อมเปิดให้บริการปลายเดือนกรกฎาคม 2563

อาทิตย์กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เกิดแนวคิดการพัฒนาแพลตฟอร์มสั่งอาหารตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว จากจุดเริ่มต้นที่เรามองว่าต้นทุนการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการสั่งอาหารจากฟู้ดเดลิเวอรีในช่วงโควิด-19 ระบาดค่อนข้างมีราคาที่สูง แล้วด้วยความพร้อมของระบบนิเวศธนาคารไทยพาณิชย์ จุดแข็งด้านเทคโนโลยี ประกอบกับการมีลูกค้าในกลุ่มร้านอาหารเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีความพร้อมในการให้บริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม โดยมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน คนส่ง และร้านอาหารได้ และคาดว่าน่าจะพร้อมเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เริ่มต้นที่พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล”

แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ROBINHOOD จะดำเนินการภายใต้ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือ เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนต่อปีประมาณ 100 ล้านบาท จากความต้องการช่วยเหลือคนไทยให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน  ROBINHOOD จึงไม่ใช่เพียงแค่แพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างคนกับร้านค้า แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมเศรษฐกิจ เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อถึงการช่วยเหลือกัน การแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก คือ จุดแข็งที่ทำให้คนไทย สังคมไทย และประเทศไทยสามารถรอดพ้นทุกวิกฤติที่เผชิญได้ 

“เราน่าจะสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์การใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่ดีได้ Robinhood ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความคิดที่เราต้องการเป็นแชมป์หรือยูนิคอร์น แต่ต้องการให้ประโยชน์คืนกับสังคม  โดยตั้งเป้าหมายร้านอาหารบนแพลตฟอร์มในช่วงเปิดตัวที่ 2 หมื่นร้าน ขณะที่เราตั้งเป้าหมายในช่วงสิ้นปีอยู่ที่ 4 –5 หมื่นร้าน  ทั้งนี้ หากแอปพลิเคชันนี้สามารถส่งต่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้บริโภคในช่วง 3 เดือนแรกได้ก็น่าจะได้รับความนิยมแน่นอน พร้อมตั้งเป้าการ Monetize ทำเงินในระยะยาวด้วยการให้บริการสินเชื่อในอนาคต