ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โอกาสใหม่ของธุรกิจพิชิตใจผู้บริโภค


ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ซึ่งกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ในชั้นบรรยากาศที่มากเกินไปเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด (พลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ) และลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ทางด้านองค์การสหประชาชาติเองก็ได้จัดให้ “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” และ “การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” อยู่ใน 17 เป้าหมายหลักของ Sustainable Development Goals (SDGs)  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จัดทำเมื่อปี 2558 เพื่อการันตีว่าประชากรโลกจะมีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนภายในปี 2573

ผู้บริโภคก็มีการตื่นตัวเรื่องการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งในด้านของการใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดภายในบ้าน โดย Yale Program on Climate Change Communication และ George Mason University Center for Climate Change Communication ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 2,063 คน ในปี 2561 พบว่า กว่า 85% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าต้องการให้มีการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมไปถึงการให้ความสนใจกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็เป็นอีกเทรนด์ที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค โดยบริษัท Deloitte ได้คาดการณ์ว่า ยอดขาย EV จะกินส่วนแบ่งถึง 32% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก จากที่มีส่วนแบ่งเพียง 2.5% ในปี 2562

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับการที่ธุรกิจแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จากการสำรวจผู้บริโภคของ Unilever เมื่อปี 2560 พบว่า ถึง 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 2 หมื่นคนจาก 5 ประเทศ (อังกฤษ อเมริกา บราซิล ตุรกี และอินเดีย) ยินดีที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีการระบุถึงการใช้คาร์บอนต่ำในขั้นตอนการผลิต หรือมีการใส่ใจประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และการศึกษาของ NYU Stern Center for Sustainable Business ที่พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาว่าเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมียอดขายในปี 2562 ที่ขยายตัวเร็วกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ถึง 7.1 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2558 และยังขยายตัวแม้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19

จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญต่อปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการผลิตที่ใช้คาร์บอนต่ำของธุรกิจจนมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ ทั้งนี้บริษัทระดับโลกหลาย ๆ บริษัทเองก็ได้มีการปรับรูปแบบธุรกิจให้คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการพยายามที่จะลด Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ (ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง จนถึงขั้นตอนการย่อยสลายของผลิตภัณฑ์) และการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น

  • บริษัท Johnnie Walker ที่ตั้งเป้าจะหยุด Carbon Footprint ในกระบวนการผลิตของบริษัทให้ได้ภายในปี 2573 ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต และออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้ทั้งหมด
  • บริษัท Apple ที่ตั้งเป้าว่า ผลิตภัณฑ์ของ Apple ทุกชิ้นจะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลยภายในปี 2573 ด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนเลยทั้งกระบวนการผลิต และตลอดอายุของผลิตภัณฑ์
  • บริษัท Adidas ที่มีเป้าหมายในการลด Carbon Footprint ในกระบวนการผลิต และมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เน้นการใช้วัสดุรีไซเคิล โดยร่วมมือกับบริษัท Parley for the Ocean นำขยะพลาสติกจากทะเลมาผลิตเป็นรองเท้าคอลเลกชั่น Adidas x Parley
  • บริษัท Patagonia ที่ผลิตเครื่องแต่งกายจากวัสดุรีไซเคิลและออร์แกนิคคอตตอน อีกทั้ง ยังเป็นแบรนด์ที่สนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับแฟชั่นและเครื่องแต่งกายหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

นอกจากการลด Carbon Footprint จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจมากขึ้นแล้ว Carbon Label ก็เป็นอีกประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นเช่นกัน ในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการมี Carbon Label หรือฉลากที่ระบุถึงระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ บนผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2563 Carbon Trust ผู้จัดทำมาตรฐาน Carbon Label เจ้าแรกของโลก ได้ทำการสำรวจผู้บริโภค 1 หมื่นคนใน 8 ประเทศ (ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนการทำ Carbon Label บนผลิตภัณฑ์ และจากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2561 ของ the Chalmers Technological University ในสวีเดน พบว่า อาหารในร้านอาหารของมหาวิทยาลัยมียอดขายที่สูงขึ้นถึง 11.5% ในช่วงที่มีการติดฉลากระบุว่ามี Carbon Footprint ที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่ได้ติดฉลาก สะท้อนได้ว่าการมี Carbon Label บนผลิตภัณฑ์จะช่วยเพิ่มความสนใจให้แก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ตัวอย่างของ Carbon Label ได้แก่ Carbon Reduction Label, CarbonNeutral, และ  Green-e Energy เป็นต้น

จากความตื่นตัวในประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น EIC จึงมองว่าธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการปรับปรุงกระบวนการผลิตและเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งนี้หากธุรกิจต้องการที่จะเริ่มปรับรูปแบบการดำเนินกิจการอาจเริ่มจากขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  • สำรวจ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ 
  • กำหนด Carbon Label ให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจและผลิตภัณฑ์ เพื่อกำหนดแผนการลดให้ได้ตามเงื่อนไขของ Carbon Label นั้น ๆ เนื่องจาก Carbon Label แต่ละประเภทมีข้อกำหนดและการยอมรับที่แตกต่างกัน ธุรกิจจึงจำเป็นต้องศึกษาและเลือก Carbon Label ให้เหมาะสม โดยในไทยเองก็มีองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในการคำนวณและการยื่นขอ Carbon Label อย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. 
  • ดำเนินแผนธุรกิจตาม guidelines ของ Carbon Label ที่เลือก และยื่นขออนุมัติฉลากจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง   4) สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ให้ทราบถึงการเป็นผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์  

การที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint มากขึ้น จะเป็นโอกาสให้ธุรกิจสร้างหรือปรับแบรนด์ของตนให้กลายเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อ “ซื้อใจ” ผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดย Keith Weed อดีต Chief Marketing and Communications Officer ของ Unilever ได้ให้ความเห็นในปี 2560 ว่า กระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่ “nice-to-have” สำหรับธุรกิจอีกต่อไป แต่มันได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ และหากธุรกิจต้องการที่จะประสบความสำเร็จ ธุรกิจจะต้องพิสูจน์ให้ผู้บริโภคเห็นว่า ตนเองนั้นให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และความสมเหตุสมผลของราคา